'อนุทิน'แจงจัดซื้อ'ฟาวิพิราเวียร์'จากญี่ปุ่นกระจายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมเร่งเจรจาสิทธิบัตรเพื่อผลิตในประเทศเพิ่มความมั่นคงเวชภัณฑ์ยา ด้านองค์การเภสัชกรรมเผยอยู่ระหว่างการศึกษาชีวสมมูลในอาสาสมัคร เตรียมยื่นขอทะเบียนในเดือน มิ.ย.นี้
..............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ติดตามความคืบหน้าการดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างใกล้ชิด รับฟังประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและมีข้อสั่งการให้แก้ไขให้เร็วที่สุด พร้อมกับย้ำกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการดูแลจัดหายา และเวชภัณฑ์อื่นๆ ให้เพียงพอ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของยารักษาโรคโควิดนั้น ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบว่า หลังจากได้สั่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิดจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ขณะนี้ได้กระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว และได้อยู่ระหว่างให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจาเกี่ยวกับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นก็ยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้รัฐไม่ได้มีการผูกขาดนำเข้าแต่อย่างใด
“รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แจ้งกับ ครม.ว่าองค์การเภสัชกรรมกำลังดำเนินการตามขั้นตอนการเพื่อให้ได้สิทธิยาฟาวิพิราเวียร์เข้ามาผลิตในประเทศเนื่องจากยามีสิทธิบัตรในต่างประเทศต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เมื่อได้แล้วจะมีส่วนให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในส่วนของเวชภัณฑ์ยามากขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ยารักษาโรคโควิดของ อภ. ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกรัมในระดับอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว โดยยาที่ผลิตได้นี้อยู่ระหว่างการนำไปศึกษาชีวสมมูลในอาสาสมัครสุขภาพดี เพื่อศึกษาความเท่าเทียมกันในการรักษาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ มีกำหนดจะแล้วเสร็จและสามารถยื่นข้อมูลขึ้นทะเบียนให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประมาณเดือน มิ.ย. - ก.ค. 2564 สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายนั้น จะสามารถดำเนินการได้ภายหลังการได้ทะเบียนตำรับยาจาก อย. ทั้งนี้ต้องไม่มีประเด็นด้านสิทธิบัตรยา องค์การฯก็จะสามารถผลิตยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ได้ทันที ตามข้อมูลที่ระบุไว้ในทะเบียนยา
ภญ.ศิริกุล กล่าวอีกว่า สำหรับกำลังการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ อภ. มีศักยภาพที่สามารถผลิตรองรับความต้องการได้ นอกจากนี้ ในระยะยาวยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ในระดับห้องปฏิบัติการ และขยายขนาดการผลิตสู่กึ่งระดับอุตสาหกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิตวัตถุดิบในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนและการพึ่งพาตนเองด้านยาให้กับประเทศไทย
ภญ.ศิริกุล กล่าวถึงประเด็นด้านสิทธิบัตรยาที่ได้มีบริษัทผู้ผลิตยาต้นแบบ ว่า ได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรสูตรตำรับยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ไว้เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2554 นั้น ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการพิจารณา คำขอฯ จึงเป็นอีกประเด็นที่สำคัญต่อการเดินหน้าผลิตยาดังกล่าวของ อภ.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage