สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผย'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค'ที่ไทยจัดหา ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก หลายประเทศใช้แล้วไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
.......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2564 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงคุณภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาและซิโนแวคว่า วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนที่ไทยจัดหาในระยะแรก ซึ่งผลิตด้วยกระบวนการที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด และมีผลการศึกษาในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (Target Product Profile) และเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานควบคุมกำกับในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUL)ใน 43 ประเทศทั่วโลกจากองค์การอนามัยโลกแล้ว เช่นเดียวกับวัคซีนของไฟเซอร์
นพ.นคร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามียอดจองสูงสุดกว่า 2.7 พันล้านโดส โดยเป็นวัคซีนส่วนใหญ่ที่โครงการโคแวกซ์จะกระจายให้กับประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันภายหลังการใช้วัคซีนในวงกว้าง ยังไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง และองค์การอนามัยโลกไม่ได้ห้ามใช้วัคซีนดังกล่าวในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากการทดสอบผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปยังมีจำนวนน้อย แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นพบวัคซีนมีประสิทธิผลในการลดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ตามระยะห่างของการฉีดที่ 8-12 สัปดาห์
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า สำหรับวัคซีนของซิโนแวค ผลิตจากเทคโนโลยีเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ จากผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อสูง พบลดอาการป่วยที่รุนแรง ส่วนการระงับการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ที่บราซิลตามที่เผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน จึงมีการอนุมัติให้ทดสอบวัคซีนต่อได้ ทั้งนี้วัคซีนซิโนแวคได้รับการอนุมัติทะเบียนจากประเทศจีนเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2564 และได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในอาเซอร์ไบจาน บราซิล ชิลี โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ลาว เม็กซิโก ตุรกี และอุรุกวัย โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์แล้วกว่า 2 ล้านโดส ส่วนอินโดนีเซียได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนในผู้สูงอายุ และจากการใช้วัคซีนในวงกว้าง ยังไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงเช่นเดียวกัน
นพ.นคร กล่าวถึงแผนการให้วัคซีนในประเทศไทยว่า ได้วางแผนการให้วัคซีนโควิดกลุ่มเป้าหมายในระยะแรก ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคคลที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ 1. เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต 2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ (บุคลากรทางการแพทย์) และ 3.เพื่อให้คนไทยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ
“การจัดหาวัคซีนโควิด เพื่อประชาชนไทยยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะขยายการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกคนที่ต้องการฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ทั้งนี้ประเทศไทยยังคงเจรจากับโครงการโคแวกซ์เป็นระยะๆ และหากบรรลุเงื่อนไข ข้อเสนอที่ประเทศจะได้ประโยชน์ อาจทำข้อตกลงการจัดหาวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ได้” นพ.นครกล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage