'นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์' แพทย์คนแรกของไทยที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หลังติดเชื้อจากคนไข้คลัสเตอร์โต๊ะแชร์ จ.มหาสารคาม
.........................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 เพจเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวชาวสารคาม ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ อายุ 66 ปี ผู้ป่วยโควิด รายที่ 18 ระลอกใหม่ ติดเชื้อจากคนไข้คลัสเตอร์โต๊ะแชร์ จ.มหาสารคามที่เข้ามาตรวจรักษา ได้เสียชีวิตลง เมื่อเวลา 01.19 น. ที่โรงพยาบาลศรีนคริทร์ จ.ขอนแก่น เป็นแพทย์คนแรกของไทยที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19
สำหรับไทม์ไลน์ของ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ผู้เสียชีวิต มีดังนี้
วันที่ 1 - 11 ม.ค. ปฏิบัติงานที่ คลินิกปัญญาการแพทย์ ปกติ
วันที่ 13 ม.ค. ช่วงเวลา 18.00 - 20.00 น. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 11 มาตรวจรักษาด้วยอาการไข้
วันที่ 19 ม.ค. ช่วงเวลา 09.00 - 12.00 น. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 9 มาตรวจรักษาด้วยอาการไอ ไม่มีไข้
วันที่ 25 ม.ค. ช่วงเวลา 18.30 - 19.00 น. ผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 2 มาตรวจรักษาด้วยอาการไข้สูง จึงได้แนะนำให้ไปรับการรักษาต่อ คลินิกโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ โรงพยาบาลสุทธาเวช
วันที่ 28 ม.ค. ช่วงเย็นทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อระลอกใหม่ รายที่ 2 ที่มาให้ตรวจรักษาในวันที่ 25 ม.ค. เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงปิดคลินิกและกลับบ้านพัก ไม่ได้ออกไปไหน (แยกห้องนอน เริ่มกักตัวเอง)
วันที่ 29 ม.ค. เข้ารับการตรวจหาเชื้อ ครั้งที่ 1 เวลา 20.00 น. รพ.สุทธาเวช แจ้งผลการตรวจ ไม่พบเชื้อ อยู่บ้านพัก ไม่ได้ออกไปไหน
วันที่ 31 ม.ค. มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายจะเป็นไข้
วันที่ 1 ก.พ. ช่วงเวลา 17.25 น. เข้ารับการตรวจหาเชื้อ ครั้งที่ 2 มีไข้ ช่วงเวลา 19.30 น. เข้ารับการรักษาที่ตึกเฉพาะโรค โรงพยาบาลมหาสารคาม เวลา 22.00 น. ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ
ขณะที่ เวลา 15.00น. นพ.ณัฐพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิการบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า นพ.ปัญญา มีโรคประจำตัว คือโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีภาวะน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง และมีถุงลมในปอดโป่งพอง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ได้รักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อนพ.ปัญญาได้ตรวจกับคนไข้ที่ทราบภายหลังว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิดทั้ง 3 ราย ทำให้ นพ.ปัญญา เริ่มมีอาการป่วยและตรวจพบเชื้อโควิดดังไทม์ไลน์ข้างต้น
นพ.ณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า นพ.ปัญญา อดีตเคยเป็นอายุรแพทย์โรงพยาบาลมหาสารคาม ก่อนจะเกษียณอายุราชการ และมาปฏิบัติหน้าที่ทั้งในคลินิคและในโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยไตเทียมมาตลอด ทุกๆวันจึงอยู่กับผู้ป่วย และมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยและมีเฟซชิลด์ตลอดเวลา แต่นพ.ปัญญาได้ตรวจคนไข้รายหนึ่งด้วยความทุ่มเท ซึ่งเป็นผู้ที่มีอาการป่วยมาหลายวัน เพื่อดูว่าคนไข้เป็นโรคปอดอักเสบหรือจริงหรือไม่ จึงต้องดูความเคลื่อนไหวของลิ้นไก่และลำคอ โดยให้หายใจแรงๆ หรือให้ส่งเสียง เพื่อดูการขยับและฟังเสียงของปอด ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้มีละอองฝอยหรือน้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วมีการสัมผัส หรือแทรกซึมลงไปในระหว่างช่องว่างของหน้ากากที่สวมใส่
ดังนั้นจึงขอบุคลากรทางแพทย์ไม่ว่าจะปฏิบัติงานที่ใด ต้องมีเครื่องป้องกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นชุด หน้ากากอนามัย หรือเฟซซิลด์ หรือสวมใส่ถุงมือเมื่อต้องทำหัตถการ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วให้ล้างมือ ถอดชุดออก และต้องเก็บชุดไปทำความสะอาดอย่างดี ทั้งนี้หากอยู่ในคลินิคหรือสถานที่แคบให้ระมัดระวังมากขึ้น และควรคำนึงถึงการระบายอากาศและการเว้นระยะห่างอยู่เสมอ ส่วนประชาชนที่มีโรคประจำตัว ควรตระหนักถึงความเสี่ยงสูงในการติดโควิด อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรปฏิบัติ คือ การหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ชุมชนหากไม่จำเป็น สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และให้หมั่นล้างมือ ขณะเดียวกันเมื่อต้องไปพบแพทย์ขอให้บอกประวัติอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ง่ายและสามารถระมัดระวังตัวได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage