โฆษก กทม.ยังสงสัยไทม์ไลน์ 2 ผู้ป่วย นักร้อง-เจ้าหน้าที่รัฐ ให้ข้อมูลไม่ตรงกับใบสอบสวนโรค เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่ สธ. ชี้แจงการแจ้งข้อมูลกับแพทย์อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ แต่หากตรวจพบว่าจงใจปกปิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
..........................................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีผู้ป่วยโควิดปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้แจ้งไปยังกรุงเทพมหานครให้ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องและดำเนินการตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้อง มีการปฏิเสธ หรือปกปิดข้อมูล ซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 55 ซึ่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ขณะเดียวกันอาจทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.กรณีสถานที่ใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์นั้น อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมถึงกรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 ม.ค.2564 ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของโรค ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม มาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
@สธ.ระบุไทม์ไลน์อาจคลาดเคลื่อนได้ แต่ถ้าจงใจปกปิดมีความผิด
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ความคาดเคลื่อนของไทม์ไลน์มีความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับเวลาตำรวจได้ข้อมูลแล้วต้องประเมินว่าข้อมูลมีความน่าเชื่อถือถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากความคลาดเคลื่อนมีทั้งแบบไม่ตั้งใจ อาจจะจำเวลาผิดทำให้คาดเคลื่อนเป็นหลักชั่วโมง หรืออาจมีความกังวลเนื่องจากอาจเกี่ยวพันกับการเปิดเผยเรื่องอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะนำไปตรวจสอบ และหากมีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องด้วยก็จะดูความสอดคล้องกัน ทั้งนี้หากทราบในภายหลังว่ามีการให้ข้อมูลเท็จ ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย
"การให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน มีผลกระทบต่อการป้องกันคนเกี่ยวข้องหรือการดูแลความปลอดภัยให้กับสาธารณะ ซึ่งจะทำให้การดูแลย่อหย่อนลงไป ทำได้ไม่เต็มที่ ทั้งนี้การที่เรามีข้อมูลที่เป็นจริง เราก็สามารถแจ้งเตือนได้ นำคนมาตรวจได้ แต่ถ้าคลาดเคลื่อนไป ก็ไม่ได้เสียหาย ซึ่งจะเหมือนกับวัคซีนบางตัวที่ให้ผลแค่ 50% แต่ผลป้องกันอันตราย ลดการเสียชีวิตได้ 80-90% เราก็ได้ประโยชน์จากส่วนนั้น ส่วนของข้อมูลบางส่วนอาจคลาดเคลื่อน เราก็ใช้เป็นประโยชน์ให้ดีที่สุด แต่ถ้าหากพบว่าให้ข้อมูลไม่ตรง ผู้ให้ข้อมูลก็ถือว่ามีความผิด ก็ดำเนินการต่อไป" นพ.เฉวตสรร กล่าว
@กทม.ยังสงสัยไทม์ไลน์ 2 ผู้ป่วยให้ข้อมูลไม่ตรงใบสอบสวนโรค
ด้าน ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีข้อสงสัยผู้ติดเชื้อโควิด รายที่ 647, 657 และ 658 ที่ระบุในไทม์ไลน์ว่าผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล ว่า กระบวนการสอบสวนโรคจะเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นซักประวัติและกรอกข้อมูลในใบสอบสวนโรค (NOVEL) จากนั้นจะส่งต่อไปยัง กทม. และ กรมควบคุมโรค ซึ่ง กทม. โดยสำนักอนามัยจะโทรศัพท์ไปตรวจสอบข้อมูลกับผู้ป่วย เพื่ออัพเดตข้อมูลทันที แต่หากผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูลก็จะแจ้งว่าไม่ให้ข้อมูล
นอกจากนี้ กทม.ยังมีคณะกรรมการที่ตรวจสอบเรื่องกฎหมาย ซึ่งข้อมูลบางส่วนจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อไม่ให้นำไปสู่การระบุตัวตนได้ว่าผู้ป่วยเป็นใคร ส่วนการเขียนไทม์ไลน์ของ กทม. ยืนยันว่าระบุข้อมูลตามสิ่งที่ได้มาจากใบสอบสวนโรคและจากการสอบถามเพิ่มเติมเท่านั้น
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า การสอบสวนโรคสามารถสงวนสิทธิ์เรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคลได้ แต่ต้องเปิดเผยไทม์ไลน์ทั้งหมดเพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบ สำหรับกรณีพบข้อมูลเป็นเท็จ จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว กำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบรอยืนยันว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
โฆษก กทม. กล่าวย้ำว่า ยังมีอุปสรรคที่ทำให้การให้ข้อมูลไม่ตรงตามจริง ขณะนี้ผู้ป่วยรายที่ 647 กับ 658 มีประเด็นที่ใบสอบสวนโรคไม่ค่อยทราบข้อมูล และจะต้องพิสูจน์ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งจะคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับทางตำรวจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนกรณีที่ไม่ให้ข้อมูล มีหลายราย ก็ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ แต่ กทม.ก็ต้องขอบคุณหลายรายที่ให้ข้อมูลเช่นกัน กรณีผู้ป่วยให้ข้อมลกับทีมสอบสวนแต่สงวนสิทธิ์ไม่นำเสนอนั้น จะทำได้เฉพาะเรื่องส่วนตัวเท่านั้น เช่นขอไม่ให้เปิดเผยความสัมพันธ์ส่วนตัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ยังคงต้องบอกรายละเอียดทั้งหมดก่อน
“ทั้งนี้ 4 รายที่ว่ามีข้อมูลไม่ให้ข้อมูล พบยัง มี 2 รายที่เรายังสงสัยจริงหรือไม่ และกำลังใช้กระบวนการสอบสวนอยู่ รายที่ 658 ยืนยันใบสอบสวนโรค ยืนยันชัดเจนว่าเดินทางโรงแรมบันยันทรีจริงในวันที่ 9 ม.ค. แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบว่ามีรายละเอียดเป็นข้อเท็จจริงอย่างไร เรามีข้อมูลเป็นเอกสาร คนไข้มาขอดูได้ แต่เราเปิดเผยกับสื่อไม่ได้ ยืนยันใบสอบสวนโรค เขียนชัดเจนไปโรงแรมบันยันทรี วันที่ 9 ม.ค.”
โฆษก กทม.กล่าวว่า ปัญหาในการสอบสวน ข้อมูลที่ไม่แน่ใจ การสอบสวนจะไม่ใช่แค่ภาพจากกล้องวงจรปิด แต่จะประสานตำรวจติดตามข้อมูลอย่างอื่นต่อไป ทั้งเรื่องสัญญาณต่างๆ จะไปโผลที่ไหน โดย 2 รายที่สงสัย กำลังดำเนินการอยู่ฃ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ป่วยรายที่ 647 ระบุว่าเป็นเพศชาย อาชีพนักร้องนักแสดง ที่ปรากฎข้อความในไทม์ไลน์ก่อนหน้านี้ว่าผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูลระหว่างวันที่ 14-20 ม.ค. ต่อมาผลการสอบสวนโรคโดย กทม. ได้ระบุไทม์ไลน์ใหม่โดยช่วงเวลาดังกล่าว เขียนว่า อาศัยอยู่ที่พัก
ขณะที่ผู้ป่วยรายที่ 658 เป็นเพศชาย อาชีพเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนหน้านี้ปรากฎไทม์ไลน์ว่า เดินทางไปโรงแรมบันยันทรี วันที่ 9 ม.ค. และระบุว่าไม่ให้ข้อมูล ระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค. และ 14-21 ม.ค. กระทั่ง กทม.ได้ทำการสอบสวนโรคเพิ่มเติม และระบุในไทม์ไลน์ใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมระหว่างวันที่ 15-22 ม.ค.แทน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage