ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถก ศบค.-สธ.-ก.พาณิชย์ กรณีร้องเรียนผลกระทบมาตรการรัฐป้องกันโควิด19 ระลอกใหม่
.......................................
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 ณ ห้องประชุม 901 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมสืบเนื่องจากคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ขอให้แสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบของมาตรการรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) กรณีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนัดชุมชน 2) กรณีการบริหารจัดการของภาครัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งไม่มีการควบคุมราคาหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ (ร้าน 7-11) และ 3) กรณีร้องเรียนความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งการลงพื้นที่และหลักฐานเอกสาร สำหรับวันนี้เป็นการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย , นางเกล็ดนที มโนสันติ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค, นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นายสันติธร ยิ้มละมัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, นายสรพงค์ ศรียานงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้แทน ศบค., นายสุธินาท วงษ์สุวรรณคูหา ผู้อำนวยการกองจัดระบบราคาฯ กรมการค้าภายใน, และนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
โดยสรุปที่ประชุม ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะ ใน 3 ประเด็นตามข้อร้องเรียน ดังนี้
● กรณีมาตรการปิดตลาดนัดชุมชน – ที่ผ่านมาจะปิดเฉพาะตลาดที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อรุนแรง พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น ตลาดกลางกุ้ง ตลาดกลางบางใหญ่ ส่วนตลาดอื่น ๆ ถ้าพบมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อรุนแรงจะดำเนินการปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค และมีกรมอนามัยเข้าตรวจตราความปลอดภัยก่อนเปิดตลาดที่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนห้างสรรพสินค้านั้นยังไม่พบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อรุนแรง ซึ่งรัฐยืนยันว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและวิธีการฆ่าเชื้อในพื้นที่นั้น ๆ แทนการปิดตลาด หากจำเป็นต้องปิดตลาดขอให้ปิดในระยะเวลาให้สั้นที่สุดเพื่อลดพบกระทบผู้ประกอบการและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ในขณะเดียวกัน ให้ทุกสถานที่เข้มงวดมาตรการป้องกันพื้นฐาน คือ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือ รวมทั้งช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพื่อประโยชน์ในการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังการแพร่ระบาด
● กรณีหน้ากากอนามัยของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และการควบคุมราคา – ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยประเภท Surgical Mask ที่ขอขึ้นทะเบียนกว่า 78 แห่ง มีกำลังผลิตประมาณ 5 ล้านชิ้นต่อวัน และมีผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าอีก 234 ราย แต่ก็ยังไม่มีเพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มีกว่า 65 ล้านคน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้ ศบค. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่เจ็บป่วย สามารถเลือกใช้หน้ากากทางเลือกหรือและหน้ากากผ้า ก็เพียงพอต่อการป้องกันฝอยละอองจากการไอ จาม และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้
และจากการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า โรงงานผลิตหน้ากากของเครือซีพีได้ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกฟรีให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนกลุ่มผู้เปราะบางเท่านั้น เช่น คนชรา ผู้พิการ ผู้ยากไร้ไม่มีกำลังซื้อ โดยมอบให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นองค์กรดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาล องค์กรการกุศล และมูลนิธิ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับหน้ากากที่ขายในร้าน 7-11 ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ขอความร่วมมือจากทาง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่จัดจำหน่ายหน้ากากในร้าน7-11 ให้นำหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในราคาควบคุมมาจัดจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนหน้ากากทางเลือกและหน้ากากผ้านั้น ขอให้คัดเลือกชนิดที่มีคุณภาพ แต่มีราคาที่ถูกลง เพื่อให้ประชาชนซื้อหาและเข้าถึงได้มากขึ้น
● กรณีการจัดหาวัคซีนล่าช้า – ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการจัดหาวัคซีนมานานแล้ว ตั้งแต่กลางปี 2563 มีการตั้งเป้าหมายการจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้วัคซีนจาก 2 แหล่ง คือ แหล่งที่ 1 ระยะเร่งด่วน จากบริษัท Sinovac Biotech จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน จำนวน 2,000,000 โดส คาดว่าจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันวาเลนไทน์ เดือนกุมภาพันธ์นี้แหล่งที่ 2 จากบริษัท AstraZeneca จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศอังกฤษและสวีเดน จำนวน 26,000,000 โดส คาดว่าจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษาถึงรายละเอียด ความปลอดภัย ความคุ้มค่า ในบริบทที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็วเต็มที่และรอบคอบแล้วเพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ซึ่งสตง.ได้ให้คำแนะนำว่า ตามพรบ.จัดซื้อจัดจ้างนั้นจะไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อสิ่งที่ยังไม่มีในตลาดได้ แต่สถาบันวัคซีนแห่งชาติสามารถใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะของการร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีน
โดยที่ปัจจุบันวัคซีนโควิด – 19 กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก และบริษัท AstraZeneca จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตวัคซีนได้ มีเป้าหมายการผลิตวัคซีนจำนวน 3,000 ล้านโดสต่อปี แต่ไม่สามารถดำเนินการผลิตฝ่ายเดียวได้ จึงต้องหาพันธมิตรที่มีศักยภาพของบุคลากรและมีเทคโนโลยีที่พร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการมาสำรวจบริษัทต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในประเทศไทย และพบว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีขีดความสามารถเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ได้ และเป็นบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร AstraSeneca จึงเลือกที่จะร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยมีการตั้งเป้าการผลิตจำนวน 200 ล้านโดสต่อปี
ในสภาวการณ์ระบาดฉุกเฉินทั่วโลก รัฐจะเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน ยังไม่สามารถให้เอกชนจัดซื้อได้โดยตรง สำหรับการแจกจ่ายนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่แจกจ่ายกระจายต่อไปยังประชาชนหรือหน่วยงานโดยเรียงลำดับความจำเป็นของผู้ที่ต้องการใช้วัคซีน ซึ่งต้องมีแผนควบคุมการใช้ การแจกจ่าย การติดตามผลข้างเคียง ไปจนถึงการทิ้งหรือการทำลายภาชนะบรรจุ ทุกอย่างต้องมีการรายงานโดยละเอียดเพื่อป้องกันอันตรายจากการฉีดวัคซีนและการติดตามผลอย่างใกล้ชิด