รมว.ยุติธรรม เปิดสัมมนา ‘รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ’ แนะ รู้จักกินรู้จักใช้ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาหนี้ ชื่นชม ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ คิดค้น ‘The Choice’ หนุน ยธ.จังหวัดนำไปใช้ เผย รัฐบาลเตรียมตั้งคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ มีสำนักนายกฯเป็นหน่วยงานหลัก
...................................
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ประชาชนด้านกฎหมายและการเข้าถึงความเป็นธรรม หัวข้อ “รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม เอ ชั้น 5 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมี พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เห็นชอบหลักการของการบริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ 1.การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย 2.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้หรือประชาชนรายย่อย 3.ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ 4.เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีศักยภาพในการหารายได้หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำจะได้รับการฟื้นฟูอาชีพ และ 5.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง และพบว่า ปัญหาหนี้นอกระบบมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการให้กู้ยืมเงิน และการติดตามทวงถามหนี้ ด้วยวิธีการข่มขู่ ประจาน ทำร้ายร่างกาย จนทำให้ลูกหนี้บางรายถูกกดดันจนฆ่าตัวตาย หนี้นอกระบบจึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาชญากรรมที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อย ประกอบกับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงจัดโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “รวมพลังฝ่าวิกฤตหนี้นอกระบบ” เพื่อรับฟังปัญหาและระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การเตรียมพร้อมรับมือกับอาชญากรรม และการปล่อยเงินกู้รูปแบบใหม่ๆ 2.การป้องกันการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้นอกระบบ 3.ประเมินผลการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก เยาวชน ผ่านสื่อการเรียนรู้ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด ซึ่งเป็นความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้ The Choice เกมทางเลือก-ทางรอด พัฒนาขึ้นโดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จดทะเบียนเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายเพื่อป้องกันหนี้นอกระบบ ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ได้ขับเคลื่อนผ่านยุติธรรมจังหวัดและเครือข่ายอื่นครอบคลุมทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเครือข่าย จึงได้เสนอกระทรวงยุติธรรม จัดการประกวดเพื่อรางวัลมอบให้กับหน่วยงานที่นำไปใช้ขยายผลครอบคลุมในทุกพื้นที่ ในชื่อรางวัล The Choice Award 2563 มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่น 3 หน่วยงาน รางวัลระดับดี 3 หน่วยงาน และมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนกิจกรรม ในชื่อรางวัล “สานความร่วมมือ” 5 หน่วยงาน เพื่อเป็นเกียรติและขวัญกำลังใจให้กับหน่วยงานที่มีผลงานและสนับสนุนกิจกรรมของกระทรวงยุติธรรม
จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้มอบรางวัล The Choice Award 2563 ให้กับหน่วยงานที่ได้รับรางวัล พร้อมกล่าวเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทกระทรวงยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” ว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และมีพัฒนาการให้กู้ยืมเงินในรูปแบบใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปัญหาตามมาคือการว่างงาน หนี้สิน และอาชญากรรม ซึ่งปัญหาหนี้สินนอกระบบในปัจจุบันมีความรุนแรง ทั้งรูปแบบการปล่อยเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด คือ เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เช่น รูปแบบการใช้แอพพลิเคชั่นให้กู้ยืมเงิน การใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศในการให้กู้ยืมเงิน ติดตามทวงถามหนี้ พฤติการณ์การทวงถามหนี้โดยวิธีการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ทำให้บางรายถูกกดดันจนฆ่าตัวตาย
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้นอกระบบ มีแนวทางการแก้ไขตามความเร่งด่วน 4 แนวทาง คือ 1.การเฝ้าระวังและปราบปรามเจ้าหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเอารัดเอาเปรียบในการทำสัญญาเพื่อหวังยึดที่ดินทรัพย์สินของชาวบ้าน การปล่อยกู้รายวันที่เรียกว่า “ดอกลอย” หรือกู้รายวันโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อ 24 วัน 2.การช่วยเหลือลูกหนี้ด้านการอำนวยความยุติธรรมให้กับลูกหนี้ ในชั้นก่อนฟ้อง ชั้นฟ้องคดีในศาล และในชั้นการบังคับคดี 3. การสนับสนุนการช่วยเหลือด้านแหล่งทุนให้กับประชาชน ซึ่งมีสถาบันการเงินของรัฐเป็นหลัก และ 4.การพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งการเยียวยาลูกหนี้ให้อยู่ได้ไม่เป็นภาระของสังคม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด
นายสมศักดิ์ ระบุอีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรมโดยตรง เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือเกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งความผิดอาญา การทำสัญญากู้ที่เอารัดเอาเปรียบ หรือการอำพรางเพื่อเรียกดอกเบี้ย การที่ลูกหนี้ถูกทวงหนี้จากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี หรือถูกบังคับคดี ไร้ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงเป็นหน้าที่ของยุติธรรมจังหวัดที่ต้องเป็นหูเป็นตาเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้น รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน การตรวจสอบข้อมูล การช่วยเหลือตามกฎหมายกองทุนยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือทางด้านคดีความ ค่าธรรมเนียมศาล การประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น จังหวัด ตำรวจ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ขณะที่กรมบังคับคดีต้องเข้าดูแลลูกหนี้ในชั้นบังคับคดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องสืบสวนเจ้าหนี้ที่เป็นขบวนการ หรือการปล่อยกู้ในรูปแบบใหม่ๆ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องเข้าช่วยเหลือให้คำปรึกษา รับเรื่อง เป็นทั้งหน่วยงานหลักของกระทรวง และเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ การให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชน เป็นนโยบายสำคัญที่มอบให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการ ทั้งสำนักงานกิจการยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยุติธรรมจังหวัด ยุติธรรมชุมชน ต้องร่วมผลักดันให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน พร้อมกันนี้ ยังชื่นชมศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯที่คิดค้นและพัฒนา The Choice และสนับสนุนให้ยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งนำไปใช้ และนำไปศึกษาวิจัยกับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจเด็กและเยาวชน เป็นการขยายผลอีกด้วย
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืนนั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า หน่วยงานในกระทรวงเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การให้คำแนะนำระหว่างหน่วยงาน และการร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน โดยไม่ต้องให้ประชาชนเดินทางมาร้องทุกข์ที่สำนักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนกลาง เพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
ขณะที่บูรณาการกับหน่วยงานภายนอกเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะคนเป็นหนี้เดือดร้อนในหลายทาง ทั้งถูกทวง ถูกฟ้อง และไม่มีแหล่งทุนสนับสนุน สิ้นเนื้อประดาตัว ดังนั้น จะบูรณาการการช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานอย่างไรให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด และเป็นที่น่ายินดีว่า รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เบ็ดเสร็จ จึงมีแนวทางที่จะตั้งคณะกรรมการเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานขึ้น โดยมอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานหลัก ส่วนการจัดทำฐานข้อมูลคนเป็นหนี้นอกระบบของทั้งประเทศ และข้อมูลการร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความสำคัญต่อการประมวลผลและวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาในภาพรวมของประเทศ
ดังนั้น การสัมมนาวันนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ให้บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และปัญหาหนี้นอกระบบ เข้าร่วมระดมความคิดเห็น และหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวิกฤติ เช่น ปัญหาการฆ่าตัวตาย รูปแบบการปล่อยกู้แบบใหม่ๆ และการนำสื่อการเรียนรู้ The Choice มาใช้เป็นเครื่องมือเรียนรู้กฎหมาย
นายสมศักดิ์ ระบุอีกว่า บางคนไม่รู้ตัวว่า ตนเองปฏิบัติตัวอย่างไรจึงเป็นหนี้ เช่น การสูบบุหรี่ 1 ซอง ตนเองเคยยกตัวอย่างให้ผู้ต้องขังได้เรือนจำได้ฟัง ว่า ในหนึ่งปี สูบบุหรี่ 365 วัน วันละ 1 ซอง เท่ากับตลอดทั้งปี ใช้เงินซื้อบุหรี่มาสูบถึง 34,675 บาท ซึ่งแค่บุหรี่ซองเดียวก็ราคา 34,675 แล้วบาท และก็เท่ากับข้าวสาร 20 กระสอบ เลี้ยงปากท้องได้ทั้งครอบครัว ดังนั้น หากเรียนรู้และเข้าใจว่า ตนเองมีอาชีพและรายได้เท่าไหร่ ถ้ารู้จักกินรู้จักใช้ก็จะไม่เป็นหนี้ แต่คนที่ไม่รู้จักตัวตนของตัวเองว่าเราทำอะไร ตนเองจึงบอกให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้เรียนรู้ ให้ทุกคนได้รู้ปัญหากิจกรรมและงานของตัวเอง นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ หากทุกคนเข้าใจและเข้าถึงก็จะแก้ปัญหาหนี้ได้