ครม.เห็นชอบต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือนถึง 30 ก.ย.2564 พร้อมอนุมัติใช้งบกลางปี 63 จ่ายเงินอุดหนุน 1,000 ล้านบาทให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประสานงาน-สนับสนุนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย
--------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาท จากงบกลาง ประจำปี 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นเงินอุดหนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติสนับสนุนหน่วยงานเครือข่าย การพัฒนางานด้านวัคซีนป้องกันโควิดของประเทศไทย ทั้งรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิต และสร้างขีดความสามารถของไทยในการพัฒนาวัคซีนของตนเองตั้งแต่ต้นน้ำ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับพิมพ์เขียวเพื่อเข้าถึงวัคซีนของคนไทย ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นกรอบนโยบายในการบูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยดำเนินงาน ตามยุทธศาสตร์สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ การนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบ และขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลาง ขณะเดียวกันยังพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลางและระยะยาว เพื่อสร้างขีดความความสามารถให้ไทยสามารถพัฒนาและผลิตวัคซีนให้ประชาชนได้โดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ให้การสนับสนุนและสร้างความ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพัฒนา และหน่วยผลิตวัคซีนในประเทศ ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตวัคซีนใช้ได้เองในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ นอกจากนี้ ยังได้เจรจาสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งจากประเทศจีน และ ยุโรป ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตที่มีแนวโน้มจะได้วัคซีนมาใช้ภายในต้นปี 2564 มีความเป็นไปได้ในทางเลือกที่รัฐบาลควรลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวข้ามสถานการณ์การระบาดได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากการมีวัคซีนใช้เร็วขึ้น 1 เดือน จะช่วยให้ประเทศ สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 250,000 ล้านบาท และยังสร้างผลกระทบเชิงบวก ทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนไทยด้วย
สำหรับวงเงิน 1,000 ล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. จะถูกนำไปใช้เป็นรายจ่าย 3 ประเภท ซึ่งเป็นแผนการดำเนินการตั้งแต่ ส.ค.2563 - พ.ย.2564 ดังนี้ 1.การพัฒนาวัคซีนต้นแบบชนิด mRNA ตั้งแต่ต้นน้ำ วงเงินรวม 365 ล้านบาท 2.การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector วงเงิน 600 ล้านบาท และ 3.การเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง วงเงิน 35 ล้านบาท
นอกจากนั้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 ก.ย.2563 ตามที่ สมช. เสนอ โดยเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในภาพรวมยังรุนแรงในหลายประเทศ และมีคนไทยเดินทางกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลให้เป็นเอกภาพและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในช่วงที่มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีน
ทั้งนี้ สมช.ให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายของภาครัฐเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในขณะที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ยังมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงานหลายประการ โดยเฉพาะอำนาจที่ไม่ครอบคลุมการปฏิบัติงานในทุกภารกิจ และปัญหาในการบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ได้อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/