ศาลปกครองขยายเวลาปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน-แก้ไขผลกระทบโควิด-19 ถึง 31 พ.ค. 63 แต่ยังเปิดให้บริการด้านอำนวยความยุติธรรมปกติ โดยให้ยื่นคำร้อง-ฟังคำสั่งศาลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 ศาลปกครอง โดยคณะอนุกรรมการบริหารศาลปกครอง ด้านการป้องกันและการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีนายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน ได้มีประกาศให้ขยายระยะเวลาในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคู่กรณี ประชาชน หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมออกไปนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ จากเดิมที่คณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของศาลปกครอง ได้เคยประกาศกำหนดไว้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงในปัจจุบันว่า ยังคงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของรัฐอย่างจริงจังต่อไป เพื่อให้สามารถควบคุมและจัดการการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตและสุขภาพพลานามัยของทุกคนในสังคมเป็นสำคัญ
อนึ่ง ศาลปกครองยังคงเปิดทำการตามปกติเพื่อให้การบริการด้านการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและดีที่สุด แต่ได้เพิ่มมาตรการเพื่อลดภาระการเดินทางมายังที่ทำการศาลปกครองของคู่กรณีและประชาชนที่ติดต่อกับศาล และบุคลากรของศาลปกครอง โดยสรุปได้ดังนี้
1. ในส่วนที่เกี่ยวกับคู่กรณีและประชาชน กำหนดให้การยื่นคำฟ้อง คำให้การ และคำร้องคำขอต่างๆ สามารถดำเนินการทางระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ไปรษณีย์ลงทะเบียน และโทรสาร ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เคยลงทะเบียนระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ไว้ก่อนหรือไม่ ส่วนการนั่งพิจารณาคดีของศาล การไต่สวน การนัดประชุมไกล่เกลี่ย และการนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล คู่กรณีสามารถดำเนินการได้โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบการประชุมทางจอภาพ แอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยคู่กรณีไม่ต้องมาศาล
ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการนั่งพิจารณาคดี ไต่สวน นัดประชุมไกล่เกลี่ย หรืออ่านคำพิพากษาที่ศาล ศาลสามารถกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยได้ตามความเหมาะสม เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย การจำกัดจำนวนคนในห้องพิจารณาคดี
2. กำหนดให้ตุลาการศาลปกครองและเจ้าหน้าที่ศาลปฏิบัติงานที่บ้าน กรณีการตรวจสำนวน การร่างคำสั่งหรือคำพิพากษาตามความเหมาะสม โดยใช้ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนในการประชุมปรึกษาสามารถใช้ระบบการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ตามที่เห็นสมควร
3. จัดให้มีบุคลากรในจำนวนเท่าที่จำเป็น แต่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน โดยให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานจากที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยได้ โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของงาน การรักษาวินัย และการตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองและประชาชนส่วนรวม
4. เพิ่มความเข้มข้นเกี่ยวกับมาตรการในการทำความสะอาดและกำจัดความเสี่ยงของการติดเชื้อในพื้นที่ปฏิบัติงานและพื้นที่ให้บริการประชาชน เช่น บริเวณที่ประชาชนยื่นฟ้องหรือติดต่อราชการอื่น ห้องพิจารณาคดี ห้องไต่สวน ห้องไกล่เกลี่ย โรงอาหาร ห้องประชุม ห้องน้ำ ลิฟต์โดยสาร เป็นต้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบโควิด-19 จาก https://uroweb.org/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage