สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศสดังนี้
1.สถิติวันพฤหัสบดีที่ 23 เม.ย.2563 (เวลา 14.00 น.)
- ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 120,804 ราย (เพิ่มขึ้น 1,653 ราย) ซึ่งรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อที่บ้านพักคนชราที่ตรวจพบจาก test PCR แล้ว แต่ไม่รวมผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่มิได้ทำการตรวจ test
- รักษาอยู่ที่ รพ. 29,219 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 1,410 ราย นับเป็นวันที่ 9 ติดต่อกันที่มีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ. น้อยลง (522 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 42,088 ราย (เพิ่มขึ้น 1,431 ราย)
- อาการหนัก 5,053 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 178 ราย นับเป็นวันที่ 15 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลงจากวันก่อนหน้า (จำนวน 165 ราย)
- เสียชีวิตที่ รพ. 13,547 ราย (เพิ่มขึ้น 311 ราย) เสียชีวิตที่บ้านพักคนชราและที่ศูนย์การแพทย์สังคม (établissements médico-sociaux) 8,309 ราย (เพิ่มขึ้น 205 ราย)
**รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 21,856 ราย (เพิ่มขึ้น 516 ราย)**
2. การเตรียมยกเลิกมาตรการห้ามออกจากที่พัก
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2563 สำนักประธานาธิบดีได้แจ้งภายหลังการหารือระหว่างประธานาธิบดีกับนายกเทศมนตรีเมืองต่าง ๆ ว่า
- นาย Jean Castex (หน. ทีมงานเตรียมการสำหรับหลังวันที่ 11 พ.ค.) มีกำหนดเสนอแผนการดำเนินการหลังวันที่ 11 พ.ค. ต่อรัฐสภาในสัปดาห์หน้า (คาดว่า วันที่ 28 เม.ย.) และจะสามารถแจ้งรายละเอียดของแผนฯ ฉบับสมบูรณ์ได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค. โดยจะมีการหารือกับผู้แทนท้องถิ่นด้วย
- ยืนยันว่าจะมีการกำหนดให้รักษาระยะห่างและการสวมหน้ากากในระบบขนส่งสาธารณะ
- จะไม่ทำการผ่อนปรน/ยกเลิกมาตรการห้ามออกจากที่พักเป็นรายแคว้น โดยประชาชนจะสามารถเดินทางไป - มา ระหว่างแคว้นต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่สามารถปรับมาตรการทางสาธารณสุขตามความจำเป็น
- การส่งบุตรไปยังสถานศึกษาตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. จะอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 เม.ย.2563 ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แถลงหลัง การประชุมคณะมนตรียุโรป (European Council) สรุปได้ ดังนี้
- ให้ความมั่นใจว่ามาตรการต่าง ๆ ของฝรั่งเศสเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแนวทางของอียู กล่าวคือ ให้มีการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พักอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ เริ่มจากเปิดสถานศึกษา และมีการประเมินสถานการณ์เป็นประจำ รวมทั้งมีการดำเนินการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันในส่วนที่เกี่ยวกับชายแดนภายนอกของ EU และพิจารณาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี contact tracing
- ได้มีการหารือเกี่ยวกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ EU โดยบางประเทศได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ๆ อาทิ อิตาลีและสเปน ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการบริหารจัดการวิกฤติดังกล่าว นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ยังไม่เท่าเทียมกันในแต่ละประเทศอีกด้วย ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจจะก่อให้เกิดภัยต่อความเข้มแข็งของอียูและสกุลเงินยูโรได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในหลายสาขาไปอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
- นอกจากนี้ รมว.เศรษฐกิจของประเทศอียู ได้ตกลงกันในมาตรการต่าง ๆ (คิดเป็นงบประมาณ 5 แสนล้านยูโร) ได้แก่ (1) การ refinance มาตรการให้พักงานโดยยังได้รับเงินเดือนอยู่ (chômage partiel) (2) การให้เงินกู้แก่สาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากธนาคารยุโรปเพื่อการลงทุน (European Investment Bank) และ (3) ให้กลไก European Stability สามารถเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2563 (กลไกตั้งขึ้นเพื่อบริหารวิกฤติทางการคลังของเขตเงินสกุลยูโร)
4. มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
4.1 เมื่อช่วงดึกของวันที่ 22 เม.ย.2563 วุฒิสภาฝรั่งเศสได้ให้ความเห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ฉบับแก้ไข เพื่อรับมือกับวิกฤติทางสาธารณสุขเป็นเงิน 1.1 แสนล้านยูโร โดยได้แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
- ให้เพิ่มเพดานของเงินบริจาคแก่สมาคมต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 75 จากเดิมจำกัดอยู่ที่ 537 ยูโร เป็น 1,000 ยูโร
- เพิ่มงบประมาณกองทุนเงินช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กมากและผู้ประกอบการอิสระ (fonds de solidarité) จาก 7 พันล้านยูโรเป็น 9 พันล้านยูโร
- ยกเลิกเพดานจำกัดจำนวน ชม. การทำงานล่วงเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีและเงินสมทบประกันสังคม สำหรับการทำงานล่วงเวลาระหว่างภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข
- ให้มีเครดิตภาษี (crédit d'impôt) สำหรับบริษัทที่ต้องปิดทำการหลังวันที่ 11 พ.ค. โดยเฉพาะในสาขาการโรงแรมและร้านอาหาร วัฒนธรรม การจัด event
- ให้มีกลไกเสริมอนุมติเงินกู้ให้แก่บริษัท SMEs ที่ถูกธนาคารปฏิเสธให้กู้เงิน
- ให้ขยายการลดอัตราภาษี VAT จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 5.5 สำหรับผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและเครื่องแต่งกายเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาทิ ถุงมือและเสื้อคลุม (เพิ่มเติมจากหน้ากากและเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ) และให้องค์กรท้องถิ่นสามารถนำภาษีที่เก็บได้เหล่านี้ไปบริหารจัดการในงบประมาณท้องถิ่นได้
- ให้บริษัทประกันภัยมีส่วนร่วมทางการเงินในการบรรเทาวิกฤติทาง สาธารณสุขมากยิ่งขึ้น
- ให้เงินพิเศษจำนวน 500 ยูโร แก่ครอบครัวที่รับอุปการะให้ความช่วยเหลือทางสังคมแก่เด็ก (familles d'accueil de l'aide sociale à l'enfance หรือ ASE) และให้จัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนต่อต้านความรุนแรงภายในครอบครัว (1 ล้านยูโร) และกองทุนช่วยเหลือความเป็นผู้ปกครอง (5 แสนยูโร)
- กำหนดให้รัฐบาลต้องแจ้งรัฐสภาก่อนที่จะทำการซื้อหุ้นของบริษัทใด ๆ
4.2 รมช. รับผิดชอบปัญหาความยากจนในสังคม (นาง Christelle Dubos)ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลจะเพิ่มงบประมาณจำนวน 39 ล้านยูโร เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ยากไร้ โดยผ่านสมาคมต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบ 65 ล้านยูโรเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยด้วยแล้ว
5. การออกกฎหมาย (เพิ่มเติม) : เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ครม.ฝรั่งเศสได้ให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก. เพิ่มเติมอีก 4 ฉบับภายใต้กรอบของ กม. ว่าด้วยภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ฉบับวันที่ 23 มี.ค.2563 ดังนี้
(1) พ.ร.ก. เกี่ยวกับมาตรการเพื่อรับมือวิกฤติทางสาธารณสุข แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. ฉบับวันที่ 25 มี.ค. อาทิ การขยายระยะเวลาเพิ่มเติมของสิทธิทางสังคมต่าง ๆ (อาทิ เงินช่วยเหลือครอบครัว เงินช่วยเหลือการศึกษาผู้พิการอายุมากกว่า 20 ปี) การขยายอายุบัตรถิ่นพำนัก (titres de séjour) ของคนต่างชาติ (ยกเว้นบัตรประจำตัวนักการทูตและกงสุล) วีซ่าระยะยาว ใบอนุญาตให้พำนักในฝรั่งเศสได้ชั่วคราวและใบรับคำร้องขอบัตรถิ่นพำนัก (Récépissés de demandes de titres de séjour) ซึ่งจะหมดอายุระหว่าง 16 มี.ค. – 15 พ.ค. ออกไป 180 วัน (จากเดิมขยายะระยะเวลา 90 วัน การปรับกระบวนการเกี่ยวกับการให้เงินชดเชยกรณีเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน และกระบวนการให้อนุญาตให้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่อมนุษย์เพื่อขจัดเชื้อไวรัส covid-19
(2) พ.ร.ก. เกี่ยวกับการเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกองค์กรท้องถิ่นรอบที่สองที่ Polynésie française และ Nouvelle-Calédonie (แก้ไขเพิ่มเติม พรก. ฉบับวันที่ 1 เม.ย.)
(3) พ.ร.ก. เกี่ยวกับการให้อำนาจปรับมาตรการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขใน Nouvelle-Calédonie, Polynésie française และหมู่เกาะ Wallis และ Futuna
(4) พ.ร.ก. เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาของมาตรการ trêve hivernale (ห้ามไล่ผู้เช่าที่พักออกจากที่พัก) ใน Saint Barthélemy, Saint-Martin และ Saint-Pierre-et-Miquelon (แก้ไข พรก. ฉบับวันที่ 25 มี.ค.)
6. สถานการณ์สมมุติ : สถาบันการศึกษาระดับสูงด้านสาธารณสุข (Ecole des hautes études en santé publique หรือ EHESP) ได้ทำการศึกษาสถานการณ์สมมุติที่อาจเกิดขึ้นในฝรั่งเศสหากไม่มีการบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ว่า จะมีผู้ติดเชื้อไวรัสในฝรั่งเศสประมาณร้อยละ 23 ซึ่งจะส่งผลให้ รพ. ต่าง ๆ ไม่สามารถรองรับได้ เนื่องจากจะมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ. รวม 670,000 ราย โดยอย่างน้อย 140,000 รายเป็นผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งรัฐบาลจะต้องจัดหาเตียงที่มีเครื่องช่วยพยุงชีพเพิ่มอีกอย่างน้อยถึง 1 แสนเตียง (โดยจะมีความต้องการเตียงดังกล่าวเพิ่มเติมถึง 30,000 เตียงในแคว้น Ile-de-France) และจะทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ รพ.จำนวนมาก (ประมาณ 73,900 ราย) ดังนั้น มาตรการห้ามออกจากที่พักจึงเป็นการหลีกเลี่ยงการสูญเสียดังกล่าว