'ประยุทธ์' ย้ำ 6 มาตรการ สกัดเเพร่เชื้อโควิด-19 ชะลอสถานการณ์ไม่ให้เข้าสู่ระยะ 3
วันที ่17 มี.ค. 2563 เวลา 19.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเถลงถึงสถานการณ์ป้องกันการเเพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเเห่งประเทศไทย ว่า แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ยังไม่เข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 แต่อาจมีแนวโน้มในการแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อลดการแพร่ระบาดจากกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ โดยทุกภาคส่วนทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อบูรณาการความร่วมมือหาแนวทางการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ขอขอบคุณทุกส่วนราชการที่ร่วมมือในการประสานงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ส่วนเมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งอาจมีข้อมูลชี้แจงไม่มากนัก เพราะหลายเรื่องต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเมื่อเสนอครม.รับทราบ และได้พิจารณาดำเนินการต่าง ๆ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข เวชภัณฑ์ป้องกัน ข้อมูลการชี้แจงและรับเรื่องร้องเรียน การต่างประเทศ ป้องกัน และให้ความช่วยเหลือเยียวยา
1. ด้านสาธารณสุข
“ไม่มีการปิดเมือง หรือปิดประเทศ (การห้ามเข้า-ออก)”
1.1 ป้องกันและสกัดกันการนําเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย คือ
(1) ชาวต่างชาติที่เดินทางจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย (4 ประเทศ + 2 เขตปกครองพิเศษ)
- ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน
- ต้องมีประกันสุขภาพ
- ยินยอมใช้ Application ติดตามของรัฐ
- มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ
- กองตรวจคนเข้าเมืองต้องดูหนังสือเดินทางของชาวต่างประเทศด้วยว่าประเทศก่อนประเทศสุดท้ายคืออะไรบ้าง เป็นเขตติดโรคไหม แล้วแจ้งให้ทางกระทรวงมหาดไทย
- ปฏิบัติตามมาตรการกักกันของรัฐโดยจะถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน
(2) สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง(ยังไม่ประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย)
- ขาเข้าต้องมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 3 วัน
- ต้องมีประกันสุขภาพ
- มีที่พํานักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย
- จะต้องยินยอมให้ใช้ Application ติดตามของรัฐ
- มาตรการนี้ใช้กับการเข้าเมืองทุกทาง ทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ
- มาตรการกักกันของรัฐ ผู้เข้าประเทศจะต้องถูกคุมไว้สังเกตอาการ 14 วัน
(3) ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เดินทางไปต่างประเทศยกเว้นมีเหตุจําเป็น และเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศซึ่ง เป็นพื้นที่เขตติดโรคติดต่ออันตราย และพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง
1.2พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พํานัก ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
1.3 ให้มีการกําหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้มีการใช้แอปพลิเคชั่น ติดตามตัว
1.4 บุคลากรทางการแพทย์ปัจจุบัน มีเพียงพอ โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน 37,160 คน มีพยาบาลจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 151,571 คน วันนี้ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลเตรียมพื้นที่สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อและโรงพยาบาลเฉพาะกิจหรือสนามรองรับหากสถานการณ์ปรับเข้าสู่ระยะที่ 3
1.5 จัดหาอุปกรณ์เครื่องมือจำเป็นในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรับมือระยะที่ 3 ได้แก่ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ ชุดป้องกันโรค ซึ่งมีแผนการผลิตและจัดหามาแล้วอย่างต่อเนื่อง
1.6 แนะนําให้คนไทยที่พํานักอาศัยในต่างประเทศชะลอการเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้นหรือให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลทุกประเทศ
2. ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน :
เร่งผลิตในประเทศและจัดหาจากต่างประเทศให้เพียงพอตามความต้องการ ในเรื่องการเร่งผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากากทางเลือก เพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกัน เจล แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งวันนี้มีการอนุมัติปลดล็อกในการใช้แอลกอฮอล์ไปใช้ผลิตเจลต่าง ๆ วันนี้รัฐบาลจะทำเจลผลิตเพื่อแจกจ่ายในสถานที่ร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันบางจากและปตท.แล้ว ขอให้ติดตามต่อไป และขอให้เตรียมอุปกรณ์ไว้ด้วย เพื่อลดภาระในการหาอุปกรณ์
ทั้งนี้ ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้า สถานที่ชุมนุม/ชุมชน และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ
ส่วนนําหน้ากากอนามัยของกลางที่ยึดได้จากการค้าผิดกฎหมาย เกินราคา จะรวบรวมส่งศูนย์กระจายเพื่อบริหารจัดการกระจายต่อไป ขณะที่การสำรวจข้อมูลต่าง ๆ ในการส่งออกได้ดำเนินการอยู่ หลายอย่างเป็นข้อตกลง หลายอย่างเป็นสัญญาทางการค้า และมีการผลิตทั้งในประเทศ จำหน่ายในประเทศ รับจ้างผลิตจากนอกประเทศมาด้วย หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้
ด้านการสำรวจความต้องการของเวชภัณฑ์ที่จําเป็น อาทิ ชุดป้องกันสําหรับบุคลากรทาง การแพทย์ (PPE) หน้ากาก N95 และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จําเป็น และประสานกับต่างประเทศในการจัดหาเพิ่มเติมให้เพียงพอ ซึ่งจะได้รับบริจาคจากประเทศจีน ที่เหลืออาจต้องเจรจาเพื่อซื้อขายในราคามิตรภาพควบคู่กับการพัฒนาในไทย
ส่วนการตรวจสอบการขาย Online การกักตุน และการระบายของสินค้า วันนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบแล้ว มีการร่วมมือกันระหว่างกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตำรวจ เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง
3. ด้านข้อมูล :
การสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ของรัฐบาลมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่
(1) กระทรวงสาธารณสุข เป็นการแถลงเฉพาะด้านข้อมูลทางการแพทย์ การสาธารณสุข
(2) ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เป็นการแถลงภาพรวมในทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เชิงบริหารสถานการณ์ดังกล่าว เพราะหลายเรื่องต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.
4. ด้านต่างประเทศ :
การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ ให้กระทรวงการต่างประเทศ ใช้ประโยชน์จาก TEAM THAILAND ในต่างประเทศ เพื่อเป็นทีมเฉพาะกิจ(Team Thailand COVID-19) ดูแลคนไทยในต่างประเทศ โดยมีทูตแต่ละประเทศเป็นหัวหน้าทีม ส่วนในประเทศให้นำผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาชนหารือด้วย เพราะหลายส่วนมีคำแนะนำเป็นประโยชน์ และได้รับผลกระทบ
5. ด้านมาตรการป้องกัน
“ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง”
5.1 ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น
(1) สถานที่ซึ่งผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตร เพื่อทํากิจกรรมร่วมกันอาจแพร่เชื้อได้ง่าย ซึ่งแม้จะป้องกันแล้ว และยังมีทางเลือกอื่นทดแทนการชุมนุม ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน ให้ปิดชั่วคราว ตั้งแต่วัน พุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษา ดําเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
(2) สถานที่ซึ่งผู้ซึ่งผู้คนไม่ได้มาชุมนุมเป็นกิจวัตรหรือแต่มาเพื่อทํากิจกรรมที่มีการเบียดเสียดใกล้ชิด และเสียงต่อการแพร่เชื้อจากทางปาก สัมผัสเนื้อและตัวหรือใช้สิ่งของร่วมกัน ให้ปิดสถานที่เหล่านี้ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สําหรับสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ปิดชั่วคราว 14 วัน สําหรับ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการนวดแผนโบราณและโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ให้เป็นเรื่อของคณะกรรมการระดับจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดในการพิจารณาความเหมาะสมดำเนินการดังกล่าว หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจมีการยืดระยะเวลาออกไปอีก
(3) งดการจัดกิจกรรมรวมคนจํานวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น จัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย “เพิ่มมาตรการป้องกันสําหรับพื้นที่/สถานที่ที่ยังต้องเปิด”
5.2 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจํานวนมาก ได้แก่ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยดําเนินการตามมาตรการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด
5.3 ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทําความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งลดความแออัด “ลดความแออัดในการเดินทาง เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรค”
5.4 ยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ ได้แก่ งดวันหยุดสงกรานต์ วันที่ 12 – 15 เมษายน 2563 โดยให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
5.5 ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ และเพิ่มความถี่ของการเดินรถ
5.6 งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจํานวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจํา โรงเรียน หรือหากจําเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค รวมถึงการจํากัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย
5.7 ให้ทุกหน่วยงานพิจารณามาตรการเลื่อนเวลาทํางานและการทํางานที่บ้าน และส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกล โดยให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยทําแผนการทํางานจากบ้านและรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์ฯ “
5.8 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อํานาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 เพื่อจํากัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทําให้เกิดการแพร่ระบาด หรือกําหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจํากัดพื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด โดยยึดโยงตามมาตรการที่จะดําเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19 )ทราบและให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงาน ผลการดําเนินงานเป็นประจําทุกวัน
5.9ให้มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอําเภอ เขต หมู่บ้าน โดยมีบุคคลจากภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
6.ด้านมาตรการช่วยเหลือเยียวยา
6.1.กลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการท่องเที่ยว
ให้ คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหามาตรการ รองรับเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ต้องชะลอการเลิกจ้างพนักงาน ลูกจ้าง อาทิ มาตรการช่วยเหลือการลดราคาห้องพักของธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของกิจการโรงงาน
6.2 กลุ่มประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทางเศรษฐกิจ และมีภาระในในการผ่อนชําระ เช่น รถจักรยานยนต์ ฯลฯ เพื่อให้ สถาบันการเงินผ่อนผันการชําระค่างวด รวมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ นอกระบบ (พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างรายวัน ฯลฯ) กลุ่มเกษตรกร (ผลไม้ ดอกไม้ กล้วยไม้ ฯลฯ) ที่ได้รับผลกระทบ และพิจารณามาตรการเพื่อนําเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯในระยะที่ 2 ต่อไป
6.3 ให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิจากสถานการณ์ไวรัสโควิด เช่น หนี้นอกระบบ การบังคับคดีการขายฝาก เป็นต้น
6.4 สร้างขวัญและกําลังใจให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
ทั้งนี้ สําหรับมาตรการของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคที่ เคยเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้ศูนย์ข้อมูลโควิด นําไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในช่วงทางต่าง ๆ ต่อไป
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติต้องนำมาตรการเหล่านี้ไปดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
“เราต้องสกัดกั้นการแพร่เชื้อจากต่างประเทศและแพร่กระจายในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะต้องกู้สถานการณ์และชะลอให้อยู่ในระยะที่ 2 นานที่สุด จึงได้มีมาตรการเพิ่มเติมมาตามลำดับ” นายกรัฐมนตรี ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/