รมว.กระทรวงมหาดไทย เผย การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องรอ กกต. ออกระเบียบข้อบังคับจึงสามารถออกญัตติได้
เว็บไซต์ไอเอ็นเอ็นรายงานว่าพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นว่า สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นมีด้วยกัน 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ 2. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย คือ อปท. ทราบข้อมูลว่าได้มีการเตรียมออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับค่าใช่จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว แต่ฐานที่ใช้คือการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 54 อาจจะยังไม่ตรงกับการเป็นจริง ดังนั้น ต้องรอ กกต. ออกระเบียบข้อบังคับ และแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงกำหนดทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถออกข้อญัติที่ตรงกับความเป็นจริงแล้วนำมาบังคับใช้ได้ เมื่อทราบความชัดเจนของทั้ง 2 ส่วน แล้ว จะได้มีการหารือร่วมกันก่อนที่จะส่งเรื่องให้ทางรัฐบาลพิจารณา
ส่วนสถานการณ์การเมืองในปี 2563 พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่จะต้องเดินหน้า จึงขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกประชาธิปไตยตามที่ควรจะเป็น สำหรับคนที่พร้อมทำเพื่อประชาชนก็ขอให้เตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่ประชาชนก็เตรียมใช้สิทธิ์เลือกคนเข้ามาทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนการเคลื่อนไหวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างก็มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะในประเด็นของการเมืองแต่ความขัดแย้งนั้นไม่ว่าจะประเทศใดก็ไม่ส่งผลดีต่อประเทศเลย เพราะทำให้ประเทศขาดโอกาสในการพัฒนาและส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนด้วย จึงคิดว่าหากทุกอย่างเคลื่อนไปตามแนวทางประชาธิปไตยน่าจะดีกว่า เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแล้วยังไม่ทำให้ประเทศเสียโอกาสด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวว่า ประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการเกษตร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยทำการเกษตร จึงควรมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างดีขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังระบุว่า วันนี้ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีทั้งหมด 4 ตัว พังไปแล้ว 3 ตัวที่เหลืออยู่ และพอที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีกำลังจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าการเมืองไม่อยู่ในความขัดแย้ง นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในประเทศ เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นกว่านี้ ทั้งนี้ การให้ข่าวด้านเดียวก็ไม่สมมาตรอยู่แล้ว ถ้ายังมีการวิเคราะห์วิจารณ์ ว่าหากเกิดสิ่งนี้จะทำให้เกิดสิ่งนั้นอีก จะยิ่งไปกันใหญ่ ทางที่ดีควรช่วยกันทำให้ประชาชน ได้รับข้อมูลที่สมมาตร ให้ได้คิดและตัดสินใจน่าจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย พยายามจะใช้ช่องทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เขาได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่เป็นไปได้ยาก ตราบใดที่ยังมีคนให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอยู่ ตนมองว่าสื่อมวลชนสามารถช่วยตรงนี้ได้ พร้อมอยากให้คนไทยใช้วิจารณญาณ ใช้พื้นฐานจากข้อมูลข้อเท้จจริงที่มี และเชื่อว่าหากยึดตามนี้ ประชาชนเขาจะสามารถเลือกคนดีได้อย่างแน่นอน