เว็บไซต์ www.thaipost.net รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค 2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ช่วงหลังปีใหม่ กระทรวงการคลังจะตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นคณะทำงานถาวรที่ดูแลเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนข้อมูล ระดมความคิดในเรื่องต่าง ๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้ และมองในระยะยาวว่าอะไรที่ควรจะต้องดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการยกร่างรายละเอียดการตั้งคณะกรรมการ โดยจะมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รวมถึงภาคเอกชนร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิด
"สำหรับประเด็นเรื่องการดูแลเงินบาทที่แข็งค่านั้น ธปท. จะเป็นคนดูแล แต่โดยหลักการเรื่องนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งคณะทำงานที่พูดถึงนี้ จะทำหน้าที่ดูแลในหลายประเด็น" นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวอีกว่า การตั้งคณะทำงานดังกล่าวแตกต่างจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม แต่คณะทำงานที่ตั้งขึ้นเป็นระดับหัวหน้าหน่วยงาน เป็นทีมเล็กที่ดูลึกลงไปในรายละเอียด และอาจมีข้อเสนอให้ ครม. เศรษฐกิจพิจารณาเห็นชอบ หากเห็นว่ามีความจำเป็น ซึ่งเศรษฐกิจไทยปีหน้าน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ แม้ว่าจะโตไม่เต็มที่แต่ก็น่าจะดีขึ้น ด้วยปัจจัยของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งจากกำลังซื้อ จากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่จะมีอย่างต่อเนื่อง และจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความท้าทายจากสถานการณ์การค้าโลก ที่ปัจจุบันส่งผลกระทบกับการส่งออก ก็ยังเป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตาม
สำหรับเรื่องการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ตั้งขึ้นมา อยู่ระหว่างการดูเรื่องนี้จะมีการพิจารณากันอีกครั้งในต้นปีหน้า โดยจะหารือต่อเนื่องจากผลที่ศึกษา
“เรื่องนี้ไม่ใช่จะพิจารณาทีเดียวแล้วเปรี้ยง ทุกอย่างเสร็จ ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อน จึงต้องทำให้รัดกุม เรื่องภาษีไม่มีใครประกาศกันก่อน ดังนั้นจึงต้องมีแนวทาง มีเป้าหมายว่าเราต้องการอะไร นั่นคือ การดูแลแหล่งที่มาของรายได้ประเทศ ให้ระบบภาษีเป็นระบบที่เหมาะสมกับการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำผ่านโครงสร้างภาษี และจะโยงไปถึงการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย คณะทำงานไม่ได้ดูแค่ว่าจะปรับลดแค่ไหน อย่างไร แต่จะดูปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมดเพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม” นายอุตตม กล่าว