"วิลาศ" ชี้เลิกต่อสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภา ครั้งที่ 4 มองเหตุไม่เหมาะสม ควรเริ่มปรับจริง 12.28 ล้านบาท เตรียมร้อง ป.ป.ช. พร้อมขอสอบเลขาธิการสภาฯ หวั่น เอื้อประโยชน์บริษัทก่อสร้าง
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงกรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่มีความล่าช้า และต่อสัญญาอย่างต่อเนื่อง ว่า ในการต่อสัญญาการก่อสร้างส่วนต่อขยายไปแล้วถึง 3 ครั้ง รวม 1482 วัน ทั้งที่สัญญาหลัก 900 วัน ตนไม่เคยพบการขยายกรอบเวลาได้มากขนาดนี้ ซึ่งโครงการก่อสร้างรัฐสภาเละเทะและเลวร้ายที่สุด เนื่องจากสภาเป็นหน่วยงานตรวจสอบคนอื่น พร้อมกับมีคณะกรรมการเกี่ยวกับการต่อสร้างมากที่สุด และยังมีคณะกรรมการเร่งรัดการก่อสร้าง ในบรรดาคณะกรรมการชุดต่างๆ มีคณะละ 20 คน และไม่มีการพูดอะไรในที่ประชุม มีเพียงว่าอย่างไรว่ากัน รวมไปถึงได้รับเบี้ยงเลี้ยงมากที่สุดหลายหมื่นบาทต่อคน ตนจึงมองว่าการขยายเวลาอาจเป็นการที่คณะกรรมการกลัวว่าเบี้ยงเลี้ยงจะหายไป
โดยยังมีหนังสือจากบริษัทที่ปรึกษาก่อสร้าง ได้รับหนังสือจากบริษัทผู้รับจ้าง ขอขยายระยะเลาก่อสร้างอีก 502 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 62 ถึง 30 เมษา 64 และได้พิจารณาแล้วควรขยาย 382 วัน สิ้นสุด 31 ธ.ค. 63 โดยให้เหตุผลว่า ผู้รับจ้างมีเหตุผล ประกอบด้วย ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับอาคารรัฐสภาและอาคารประกอบ ผู้ว่าจ้างได้มีคำสั่งแจ้งการเปลี่ยนแปลงรูปคุณภาพหรือปริมาณงาน อ้างว่าในระหว่างการก่อสร้าง ผู้ว่าจ้างใช้สิทธิ์การเข้าใช้งานในสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะที่จอดรถรวมไปถึงห้องประชุมจันทรา และการจัดหาผู้รับจ้างรายอื่นที่มีความเกี่ยวข้องนั้นมีความล่าช้า
ทั้งนี้นายวิลาศ มองว่า การใช้พื้นที่ล่วงหน้า ตามข้อ 34 ผู้ว่าจ้างมีสิทธิ์สามารถเข้าใช้พื้นที่ในส่วนที่แล้วเสร็จ โดยที่การเข้าใช้งานจะไม่ถือเป็นการรับมอบงานตามสัญญา และจะนำมาเป็นเหตุในการใช้ขยายสัญญาไม่ได้ ขณะเดียวกันในกรณีที่สัญญาจ้างดำเนินอยู่ หากมีอุปสรรคในการทำงาน ผู้รับว่าจ้างต้องแจ้งภายใน 15 วันตั้งแต่ได้รับอุปสรรค ซึ่งเมื่อไม่แจ้งถือเป็นการสละสิทธิ์ในการเรียกร้องการขยายเวลา รวมไปถึงการจัดหาผู้รับจ้างรายอื่นมีความล่าช้า ตนอยากให้ที่ปรึกษาอ่านภาคผนวก 16 ที่ระบุไว้ว่า จะนำการที่บริษัทรายอื่นทำงานล่าช้ามาเป็นการขอขยายเวลาในต่อสัญญาไม่ได้
โดยนายวิลาศ จึงเสนอขอโต้แย้งและจะนำไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ว่า การต่อสัญญาทั้งหมดนั้นไม่ชอบ การต่อสัญญาจ้างอ้างเหตุตามข้อ 3 และ 4 ตกไปแล้ว การขยายสัญญาทุกครั้งทำงานเป็นกระบวนการซึ่งมีการหารือล่วงหน้าระหว่างผู้ใหญ่ของคู่สัญญา โดยรายละเอียดทั้งหมดที่ตนมีมาจากข้าราชการในสภา รวมถึงบริษัมผู้รับจ้างมีการดึงตัววิศวกรรายหนึ่งไปอยู่กับผู้รับจ้างรายนั้น แต่ไม่ได้มีการทำงานในโครงการก่อสร้างจริง ซึ่งเป็นผู้ร่างเอกสารขอขยายสัญญาในครั้งนี้ สัญญาสาธารณูปโภค เป็นสัญญาประกอบที่มีการว่าจ้างทีหลัง โดยมีบริษัทชิโนทัยเป็นผู้รับงาน จะอ้างไม่ได้ และสัญญาในครั้งนี้จะเชื่อถือได้อย่างไรว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ตนจึงมองว่าควรถึงเวลาในการปรับค่าล่าช้าการก่อสร้าง 12.28 ล้านบาทต่อวัน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทหรือไม่