“อนุทิน” ออกโรง ย้ำเงื่อนไขสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ยึดเงื่อนไขการเข้ามาประมูลงานตามเดิม
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าจากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเงื่อนไขการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ฝ่ายเอกชนหรือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ CPH จะดำเนินการก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นภาครัฐจึงทยอยชำระค่าก่อสร้างตามมา เปลี่ยนเป็นให้เอกชน สร้าง และภาครัฐทยอยผ่อนจ่ายระหว่างดำเนินการ หรือสร้างไปจ่ายไปนั้น
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เงื่อนไขการเข้ามาประมูลงาน หรือ RFP ว่าอย่างไรก็ตามนั้น จะขาดหรือจะเกินไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญเพราะรัฐเป็นคู่สัญญา และหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ฝ่ายที่เขาแพ้ประมูล รวมไปถึงเอกชนที่ไม่เข้าประมูลเพราะเขาติดเงื่อนไขที่ประกาศไว้ ทางนั้นจะรู้สึกอย่างไร ทั้งนี้บางคนคิดเอาเองว่า EEC มีพ.ร.บ.ฉบับพิเศษ คอยอำนวยความสะดวก แต่ข้อเท็จจริงจริงคือกฎหมายฉบับนั้น ก็ต้องใช้คู่กับกฎหมายฉบับอื่น อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งRFP ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขให้เอกชนต้องดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว แต่มีเรื่องที่รัฐต้องจัดการให้ อาทิ การส่งมอบพื้นที่ตามเวลาที่กำหนด หน่วยงานต่างๆ ต้องทำให้ทัน แต่ถ้ามีเหตุสุดวิสัย ก็ยืดเวลาก่อสร้างออกไปได้ อย่าไปคิดว่าจะให้รัฐชดเชยด้วยทางอื่น สำหรับคนในส่วนของภาครัฐที่ไปให้ข่าว ขอให้เข้าใจด้วยว่า เรื่องการเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คู่สัญญาคือเอกชน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย มีรมว.คมนาคมคอยดูแล ยิ่งบางเรื่องต้องอาศัยอำนาจของคณะรัฐมนตรี จะไปพูดก่อนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ
เมื่อถามถึงกระแสข่าวลือว่ากลุ่ม CPH เตรียมปรับลดสัดส่วนด้านการลงทุน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงข้างต้น นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องดูว่า RFP อนุญาตให้ทำหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าทำไม่ได้ เพราะถ้าทำได้เท่ากับ ใครมีเงินก็เข้ามาประมูล เมื่อได้โครงการก็กระจายให้เอกชนรายอื่นรับช่วงต่อเช่นนั้นหรือ คิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะภาครัฐไว้ใจ CPH ไม่ได้ไว้ใจผู้ที่จะมารับช่วงต่อ