บอร์ดกสทช.มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมให้เป็นอัตราเดียว ส่วนค่ายที่มีเลขหมายโทรศัพท์ไม่เกิน 5 ล้านเลขหมาย ให้ออกบทเฉพาะกาลยกเว้นให้ 2 ปี
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบการทบทวนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ และเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือ โดยเห็นชอบให้มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมให้เป็นอัตราเดียว (Single Rate) ดังนี้
1.อัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ ให้กำหนดในอัตรา 1 บาท/เลขหมาย/เดือน ทำให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่มีลูกค้าโทรศัพท์ประจำที่ เกิน 5 ล้านเลขหมาย ให้เปลี่ยนมาจ่ายในอัตรา 1 บาท จากเดิมที่จ่ายในอัตรา 1.92 บาท และอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือให้กำหนดอัตรา 1.62 บาท/เลขหมาย/เดือน ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยสูงสุดของแต่ละทางเลือกที่นำมาพิจารณา
จากเดิมที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอร์เรเตอร์) 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส, บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค จ่ายไม่เท่ากัน โดยทรูมูฟมีเลขหมายที่ต้องจ่ายในอัตรา 2 บาท จำนวน 70% ขณะที่เอไอเอสและดีแทคส่วนใหญ่ 60-70% มีเลขหมายจ่ายในอัตรา 1 บาท เนื่องจากเป็นเลขหมายที่ถูกโอนมาจากสัญญาสัมปทานแต่เดิม
2.ให้มีบทเฉพาะกาลในการบังคับใช้อัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือ 1 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศในเรื่องนี้มีผลใช้บังคับ สำหรับผู้ได้รับการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์มือถือที่ถือครองเลขหมายไม่เกิน 5 ล้านเลขหมาย คือ MVNO และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ และหากมีการขอรับการจัดสรรเลขหมายใหม่เพิ่มเติม ก็ให้ใช้อัตรา 1.62 บาท/เลขหมาย/เดือน
นายฐากร กล่าวว่า จากนี้ให้นำอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมข้างต้นบรรจุใน (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พร้อมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม แล้วให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายในเดือน ต.ค.นี้
“การปรับอัตราใหม่ให้เท่ากันในครั้งนี้ แม้จะทำให้ค่าธรรมเนียมหายไป 200 ล้านบาท แต่ในระยะยาวจะมีประโยชน์ในการบริหารจัดการการคิดค่าธรรมเนียม ไม่สับสนเวลามีการเปลี่ยนค่ายใหม่แต่เบอร์เดิมว่าต้องคิดอัตราไหน ที่สำคัญคือประชาชนต้องได้รับค่าโทรที่ถูกลงด้วย และในปี 2563-2564 เมื่ออัตราในการเก็บเท่าเทียมกันทุกค่าย ก็จะทำให้รายได้ของกสทช.เพิ่มขึ้น”
ที่มาข่าว:https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9620000096197