บิ๊กตู่จี้งดเผา-ทำฝนหลวง ดันขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ‘ทบ.’จัดรถพ่นละอองน้ำ 38จุดกทม.อ่วมบางพลัดพุ่ง
ครม.เห็นชอบ 3 มาตรการแก้ฝุ่นพิษ ชูเป็นวาระแห่งชาติ นายกฯสั่งทุกกระทรวงเข้มงดเผา คุมรถยนต์ควันดำ ลดใช้รถส่วนตัว ลดเขตก่อสร้างปล่อยฝุ่น เร่งทำฝนหลวง ฉีดพ่นละอองน้ำจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สธ.เตรียมหน้ากากอนามัยแจกไม่อั้นทั่วประเทศ มท.ย้ำผู้ว่าฯทำแผนรับมือ ติดดาบถ้า PM 2.5 แตะ 100 มคก.สั่งการได้ทันที อุตุชี้ฝนเพิ่ม 40% ลดวิกฤติฝุ่นพิษเบาบาง คพ.เผย 38 เขตกทม.สำลัก บางพลัดสูงสุด 81 มคก.
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแก้ปัญหาค่าฝุ่นละอองเขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)ว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้พิจารณาแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1.ระดับปกติไม่เกิน 100 มคก./ลบ.ม. หากเกิน 100 มคก./ลบ.ม. จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงต้องดูแลกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและสตรีมีครรภ์ ซึ่งวันนี้สถานการณ์ดีขึ้นจากสภาพอากาศ และมีการเสริมมาตรการจราจร เข้มงวดการใช้ยานพาหนะ และห้ามเผาในที่โล่ง
ครม.ไฟเขียวมาตรการเข้มแก้ฝุ่น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน ได้สั่งการแก้ปัญหาก่อนเกิดวิกฤตไปแล้ว โดยแบ่งออกเป็นระดับไม่เกิน 100 มคก./ลบ.ม. ไม่มีผลต่อสุขภาพ ระดับ 2 ค่า PM 2.5 ระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. ระดับ 3 ค่าฝุ่น 76-100 มคก./ลบ.ม. ระดับ 4 ค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ซึ่งหากเกิน 100 มคก./ลบ.ม.ต้องประชุมคณะกรรมการ และรัฐบาลต้องออกมาตรการเข้มงวด สั่งการระดับประเทศ และต้องขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อยากละเว้น แต่เวลามีผลกระทบประชาชนก็ไม่ยอม ต้องแก้ปัญหากันต่อไป
งดเผา-คุมรถ-จุดก่อสร้างปล่อยฝุ่นควัน
นายกฯกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงไว้แล้ว ทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ให้หลีกเลี่ยงทำกิจกรรม ออกกำลังกายกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ให้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งสธ.เตรียมหน้ากากอนามัยไว้แจกจ่ายทุกจังหวัด หากไม่พอให้ขอมาได้ที่ส่วนกลาง ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ และกทม. ขอความร่วมมือประชาชน งดการเผาในพื้นที่โล่งทุกชนิด เพราะไม่อยากใช้กฏหมายและต้องให้รับผิดชอบร่วมกัน รวมถึงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องยนต์ ท่อไอเสีย รถควันดำต้องเข้มงวด. และทุกพื้นที่หากตรวจพบรถควันดำ ต้องงดใช้งาน จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไข ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมขอความร่วมมือพื้นที่ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ลดการระบายฝุ่น. และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑลลดปริมาณฝุ่นให้ได้ ต้องให้ฉีดพ่นน้ำ ช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น
ย้ำรบ.เร่งแก้ปัญหาเน้นทำฝนหลวง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันเดียวกันนี้กระทรวงมหาดไทยเตรียมเครื่องฉีดพ่นละอองไอน้ำใช้ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงขึ้น ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าอากาศที่ปิด เป็นเหมือนโดมครอบประเทศไทย จากสภาพอากาศเย็น สภาพอากาศนิ่ง ไม่มีลมมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอากาศหนาวมาเร็ว ทำให้มีโดมครอบ ฝุ่นละอองไม่กระจาย รัฐบาลจะพยายามเต็มที่แก้ปัญหา ทั้งเรื่องทำฝนหลวงที่พร้อมบินทันที รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นวาระหลักในการประชุม สมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ด้วย เพราะทุกประเทศมีส่วนทำให้เกิดอากาศเปลี่ยนแปลง
ทส.แจง3แผนสู้ฝุ่นพิษชูวาระแห่งชาติ
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดซ้ำหลายเขตพื้นที่ มีค่าเกินมาตรฐานว่า สาเหตุจากมีแรงกดอากาศมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมคาดว่าจะมาเดือนธันวาคม 62-มกราคม 2563 แต่เดือนตุลาคมก็มาแล้ว ดังนั้น มาตรการเร่งด่วนช่วงนี้จึงขอประชาชนและเด็กเล็กใส่หน้ากากอนามัย และขอความร่วมมือประชาชนเขตเมืองลดใช้รถยนต์บนถนน ซึ่งจะช่วยได้ระดับหนึ่ง ซึ่งทส.ได้เสนอมาตรการลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมี 3 มาตรการหลักเข้าที่ประชุม ครม. แล้ว และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ
มอบอำนาจผู้ว่าฯถ้าPM2.5แตะ100มคก.
สำหรับมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานนั้น รมว.ทส.กล่าวว่า นายกฯ ให้ความสำคัญ 3 มาตรการคือ 1.ดูแลเชิงพื้นที่ที่เกิดมลพิษแตกต่างกันทั้งกลุ่ม 9 จังหวัดภาคเหนือ เกิดจากการเผาไหม้ทางการเกษตร ส่วนกทม. ปริมณฑล ภาคกลาง เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และภาคใต้ เกิดจากลมพัดพามาจากประเพื่อนบ้าน 2.มาตรการลดการผลิต PM2.5 ระยะสั้น และ3.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมมลพิษ ถ้ายังต่ำกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ทุกอย่างยังสามารถดำเนินการได้ปกติ แต่ถ้าขึ้นไปถึง 50-75 มคก./ลบ.ม. ต้องเข้าสู่ช่วงเฝ้าระวัง แต่หากเข้าถึงระดับ 75-100 มคก./ลบ.ม. เป็นขั้นอันตราย จะมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่มีอำนาจตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เช่น ปิดโรงเรียน ห้ามรถวิ่ง หรือถ้าเกินมาตรฐานขั้นวิกฤติคือ เกิน 100 มคก./ลบ.ม. จะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเพื่อขอเสนอมาตรการต่อนายกฯเพิ่มความเข้มข้น รวมถึงมาตรการตรวจวัดที่ปัจจุบันมีเครื่องอยู่ แต่ยังไม่เพียงพอ และบางส่วนยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ส่วนมาตรการเฝ้าระวังจะแบ่งเป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยต้องประสานกระทรวงพลังงาน ขอให้ใช้น้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มมาตรฐานเครื่องยนต์ขึ้นจากยูโร 5 ไป ยูโร 6 ปี 2567 เพื่อลดมลภาวะ รวมถึงการควบคุมการวางผังเมือง และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่.
ครม.สั่งทุกกระทรวงเข้ม3มาตรการ
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาฝุ่นละออง ที่มีแนวทางแก้ปัญหา 3 มาตรการคือ มาตรการที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการเชิงพื้นที่ แก้ปัญหาระยะเร่งด่วนและช่วงวิกฤต มาตรการที่ 2 ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด การแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาว และมาตรการที่ 3การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ(การแก้ปัญหาระยะสั้น และระยะยาว อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ขณะนี้อยู่ในระยะก่อนเกิดวิกฤต เพราะตัวเลขยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงมหาดไทย (มท.)กรุงเทพฯ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกันรับผิดชอบและต้องปฏิบัติตามเมื่อเข้าสู่มาตรการขั้นต่างๆ
ย้ำผู้ว่าฯรับหมอกควันฤดูเกี่ยวข้าว
สอดคล้องกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยกล่าวว่า หลังประชุมร่วมกับนายกฯเมื่อวันที่ 30 กันยายน ได้สั่งการตามแผนของทส. โดยจะมี 3 มาตราการใหญ่คือ 1.มาตราการพื้นที่ 2.มาตราการลดปริมาณฝุ่นจากแหล่งกำเนิด และ 3.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งได้ย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้เตรียมการ เฝ้าระวังในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการเผาในที่โล่ง ซึ่งเดือนพฤศจิกายนจะเก็บเกี่ยวข้าวกันแล้ว ต้องมีมาตรการจัดเก็บ แปรรูป และนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งฟางข้าว อ้อย ข้าวโพด ถ้านำไปเผาจะทำให้เกิดปัญหาหมอกควันขึ้นอีก นอกจากนี้ ผู้ว่าฯต้องแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบต่อเนื่อง และประสานกระทรวงสาธารณสุขแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนอย่างทั่วถึงด้วย
ทบ.ส่งทีมแพทย์-พ่นน้ำลดฝุ่นพิษ
ขณะที่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกองทัพบกแถลงว่า จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยเฉพาะในกทม.และปริมณฑล พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มอบหมายหน่วยทหารของกองทัพบกประสานจังหวัดและส่วนราชการที่รับผิดชอบร่วมกันดูแลประชาชน และแก้ปัญหาตามแนวทางรัฐบาลโดยด่วน ทั้งนี้ ผบ.ทบ.เป็นห่วงสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐานที่เกิดขึ้น ยังได้สั่งการให้หน่วยทหารจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ออกตรวจสุขภาพ แจกจ่ายหน้ากากป้องกันฝุ่น ขณะเดียวกันกองทัพบกจะสนับสนุนรถบรรทุกน้ำและกำลังพลปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.ในการล้างทำความสะอาดพื้นที่และฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นและลดฝุ่นละอองในอากาศ จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานจะคลี่คลาย
38เขตกทม.สำลัก-บางพลัดสูงสุด
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ.ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในกทม.และปริมณฑล พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มกค./ลบ.ม.) หรือ PM 2.5 ช่วงเช้าวันนี้ ตรวจวัดได้ 40 -81 มคก./ลบ.ม. ส่วนใหญ่เกินเกณฑ์มาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม 38 พื้นที่ ค่าฝุ่นละอองสูงสุดบริเวณริม ถ.จรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัดวัดได้ 81 มคก./ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ปริมาณฝุ่นไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนมากนัก ได้แก่ พื้นที่กทม. เขตพญาไท และเขตบางนา จ.นนทบุรี อ.ปากเกร็ด จ.ปทุมธานี อ.คลองหลวง จ.สมุทรปราการ บริเวณ อ.บางเสาธง และ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บริเวณ อ. เมือง จ.นครปฐม บริเวณ อ.เมือง คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
เตือนปชช.สวมหน้ากากอนามัย
นายประลองกล่าวว่า สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศ ช่วงเช้าลมสงบ มีความชื้นในอากาศสูง ทำให้ฝุ่นละอองสะสมเพิ่มขึ้น จนเกินมาตรฐานดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพ ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น อีกทั้ง ยังประสานกทม.บก.จร.กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติที่ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้ว รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาในที่โล่ง บำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทดแทนใช้รถส่วนบุคคล ตรวจสอบรถขนส่งสาธารณะที่มีควันดำ ขอความร่วมมือสถานที่ก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมและลดการระบายฝุ่นและมลพิษทางอากาศ อีกทาง
อุตุชี้ฝนพิ่ม40%ลดPM2.5ได้เยอะ
วันเดียวกัน น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสถานการณ์สภาพอากาศในกทม.ที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ว่า หลังจากนี้จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พื้นที่ประเทศไทยตอนบน รวมถึงกรุงเทพฯ จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประมาณร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-60 เนื่องจากช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีมวลอากาศเย็นปกคลุม บวกลมที่พัดเข้ามาในประเทศไทย เป็นลมเหนือ และลมตะวันออก ส่งผลให้สภาพอากาศตอนบน รวมถึงกรุงเทพฯค่อนข้างแห้งและนิ่ง ฝุ่นจึงลอยตัวในอากาศไม่ไปไหน แต่หลังจากวันนี้ ลมจะที่ปกคลุมบ้านเราจะเปลี่ยนเป็นลมใต้ พัดเอาความชื้นจากทะเลเข้ามาในพื้นที่ บวกกับเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุม เกิดความแปรปรวน ทำให้ช่วงนี้จะมีฝนเพิ่ม น่าจะช่วยให้สถานการณ์ฝุ่นละอองดีขึ้นได้บ้าง
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับสภาพอากาศระยะนี้ เริ่มเข้าช่วงเปลี่ยนฤดูจากฝนไปสู่หนาว จึงทำให้มีความแปรปรวนพอสมควร ช่วงครึ่งเดือนแรก ตอนบนของประเทศจะมีฝนเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นฝนจะค่อยๆลดลง อาจทำให้สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สถานการณ์ฝุ่นมักจะเกิดในช่วงปลายปีที่อากาศเย็น นิ่ง และจมตัว