“พิชัย”แนะ“บิ๊กตู่”ดูอย่าง“ทรัมป์”โผงผางแต่ไล่บี้เรื่องเศรษฐกิจ ขอ “สมคิด” สอน ”บิ๊กตู่” สร้างความมั่นใจ เย้ย รัฐสับสนหลายด้าน ทั้งอันดับความสะดวกทำธุรกิจ และปมเฟกนิวส์ของ"ไก่อู"
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังทรุดลงต่อเนื่อง การส่งออกเดือนสิงหาคมทรุดลง 4% โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5% หรือ 4% ตามที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ โม้ไว้คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว
ในขณะที่การส่งออกทรุด แต่ค่าเงินบาทไทยกลับแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าเพิ่มขึ้นไปอีก จากสาเหตุที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่อาจจะไม่ค่อยรู้เรื่องผลกระทบของค่าเงินบาท ได้เร่งแก้ไขปัญหา และอยากให้พลเอกประยุทธ์ ได้ดูตัวอย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่มีบุคลิกโผงผาง และถูกวิจารณ์หลายด้าน แต่ให้ความสนใจในเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา และได้พยายามกดดันและไล่บี้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงเพื่อให้รองรับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังไปได้ดี ความเป็นอยู่ของคนสหรัฐฯ โดยรวมกลับดีขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับประเทศไทยที่มีผู้นำโผงผางและถูกวิจารณ์อย่างมาก แต่เศรษฐกิจกลับยิ่งย่ำแย่ ประชาชนลำบากกันทั่วหน้า จนแทบจะทนกันไม่ได้แล้ว ถึงขนาดที่มีแฮชแท็ก “#ประยุทธ์ออกไป” เพื่อขับไล่พลเอกประยุทธ์ ขึ้นอันดับ 1 ในโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่บอกว่า การสร้างความมั่นใจของประเทศสำคัญกว่าอัตราดอกเบี้ย จึงอยากให้นายสมคิด ได้สอนวิธีสร้างความมั่นใจให้พลเอกประยุทธ์ ซึ่งต้องถามว่า การที่สื่อหลักต่างประเทศพากันโจมตีรัฐมนตรีที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด แต่รัฐบาลก็ยังนิ่งเฉยนี้ จะสร้างความมั่นใจได้หรือไม่ ทั้งนี้ยังไม่นับเรื่อง คดีปล่อยกู้กรุงไทยของนายอุตตม การถวายสัตย์ไม่ครบ การไม่แถลงที่มาของรายได้ในโครงการรัฐบาล เสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล ข้อสงสัยในความรู้ความสามารถของพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งจะแก้ไขและจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไร คิดง่ายๆ ว่า พลเอกประยุทธ์ กล้าพารัฐมนตรีธรรมนัส ร่วมเดินทางไปประชุมสหประชาชาติด้วยกันหรือไม่ แค่นี้ก็พอรู้กันแล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังดูเหมือนจะหลงทาง โดยการนำเอาจุดอ่อนข้อเสียของการทำรัฐประหารนำมาเป็นจุดขาย ทั้งที่อันดับความสะดวกของไทยตกต่ำมาตั้งแต่เกิดการปฏิวัติ โดยทรุดลงจากอันดับ 18 ก่อนการปฏิวัติ ลงไปต่ำสุดที่อันดับ 49 เลย และตลอด 5 ปี ก็ยังไม่ดีขึ้นถึงที่เดิมโดยปีที่แล้วยังอยู่ในระดับต่ำ อันดับแค่ 27 แต่รัฐบาลพยายามนำมาเป็นจุดขายเหมือนกับว่า ไม่มีอะไรจะให้ขายได้แล้ว ทั้งๆ ที่เป็นจุดที่น่าจะละอายมากกว่า และปีนี้ต้องดูกันว่าดีขึ้นเท่ากับก่อนการปฏิวัติไหม หลังจากเลือกตั้งแล้ว นอกจากนี้การที่ประเทศเวียดนามมีอันดับความสะดวกทำธุรกิจต่ำกว่าไทยมากแต่กลับมีการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าไทยหลายเท่า ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปดูเรื่องความมั่นใจของต่างประเทศที่ประเทศไทยแทบจะไม่มีเหลือแล้ว
"อีกเรื่องที่หลงทางหนักกว่า คือการที่กระทรวงดีอี ควรจะต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ disruption รวมถึงการที่ต้องพัฒนา Ai, Robotic และ Blockchain ฯลฯ แต่กลับไปใส่ใจกับเรื่องข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ จนเหมือนเป็นนโยบายเดียวของกระทรวงนี้ ทั้งที่เรื่องเฟกนิวส์ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือเรื่อง ที่รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ออกมาแฉ และกล่าวหาว่า พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ เสธ. ไก่อู อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เจ้าของผังล้มเจ้าปลอมในอดีต ที่ได้ใช้สื่อรัฐในการกระจายเฟกนิวส์ โจมตีพรรคคู่แข่งของรัฐบาลในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีหลักฐานการสั่งการในไลน์กลุ่มของผู้บริหารอย่างชัดเจน แถมยังมีหลักฐานรูปภาพการใช้เฟกนิวส์ รายงานต่อ พล.ท. สรรเสริญ ในไลน์กลุ่ม รวมถึงข้อสงสัยในการทุจริตในกรมประชาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ตามข่าว รองอธิบดี ได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และ กกต. แล้ว ซึ่งอยากให้ กระทรวงดีอี ป.ป.ช. และ กกต. ได้เร่งตรวจสอบ ซึ่งหากกระทำความผิดจริงก็น่าจะเร่งลงโทษ เพื่อสนองนโยบายการปราบเฟกนิวส์ของรัฐบาล โดยต้องเริ่มจากการตรวจสอบคนของรัฐบาลก่อน เพราะทุกคนทราบดีว่า พล.ท. สรรเสริญ เป็นคนของใคร และใครส่งเข้ามาเป็นอธิบดี" นายพิชัย กล่าว...
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในภาวะปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มั่นใจได้ว่าพลเอกประยุทธ์จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ อีกทั้งไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ไทยเป็นที่ยอมรับของสังคมโลกได้ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขเรื่องการสร้างความมั่นใจก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
ที่มาข่าว:https://www.thairath.co.th/news/politic/1666086?cx_testId=2&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=0#cxrecs_s