"สรอรรถ-เศรษฐพงค์" นำทีมประชุมร่วม "AIPA-จีน" ย้ำจุดยืนสัมพันธ์ "จีน-อาเซียน" แนบแน่นยาวนาน พร้อมร่วมมือพัฒนา "การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม-ทำกฎหมายให้สอดคล้อง" ระบุทุกประเทศพร้อมร่วมมือทำเศรษฐกิจอาเซียนเท่าเทียม-ทำกฎหมายส่งเสริม ปชต.-เป็นประโยชน์ต่อสังคม
เมื่อวันที่ 29 ส.ค.62 พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 40 ว่า การประชุมจะมีไปจนถึงวันที่ 30 ส.ค.นี้ ซึ่งภาพรวมการประชุมตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี ตัวแทนของประเทศต่างๆให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนของตนนั้น ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้รายงานการประชุม ในฐานะเป็นคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ที่ร่วมประชุมหารือกับรัฐสภาประเทศผู้สังเกตการณ์ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมคณะนี้มี นายสรอรรถ กลิ่นประทุม เป็นประธานฯ การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ได้รับความร่วมมือจากประเทศจีน และประเทศผู้สังเกตการณ์อื่นทุกประเทศเป็นอย่างดี ทั้งนี้การหารือกับประเทศผู้สังเกตการณ์จากประเทศจีน ซึ่งรัฐสภาไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือด้านกฎหมาย ด้านกฎระเบียบระหว่างประเทศสมาชิกสมัชชารัฐสภาอาเซียน และระหว่างสมัชชารัฐสภาอาเซียน กับรัฐสภาประเทศผู้สังเกตการณ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน ที่มีมาอย่างยาวนานและเป็นไปด้วยดีนั้น ได้มีการหารือถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียน โดยให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากประเทศจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของอาเซียนมายาวนาน และอาเซียนยังได้รับการยอมรับว่า เป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน รวมทั้งยังมีความร่วมมือระหว่างอาเซียน-จีนในประเด็นการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค ผ่านกรอบการทำงานระดับภูมิภาค เช่น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM Plus) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่สะท้อนผ่านวิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง จีน-อาเซียนในปี พ.ศ.2573
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า จีนนับว่ามีความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกแห่งสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) มาอย่างยาวนานและมั่นคง โดยจีนได้เข้าร่วมประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ซึ่ง AIPA เองได้แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจ สำหรับความร่วมมือทวิภาคีกับจีน และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากประเทศจีนในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การลงทุน การขจัดความยากจน และการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ One Belt, One Road (OBOR) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ที่ริเริ่มโดยจีน ที่จะช่วยให้การจัดทำแผนแม่บท ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC) ประสบความสำเร็จ
ขณะที่ นายสรอรรถ กล่าวว่า การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือ AIPA เป็นเวทีที่ ส.ส.ของแต่ละประเทศ ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มาหารือและถกเถียงร่วมกันในประเด็นต่างๆ ผ่านการประชุมคณะกรรมาธิการด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้มีการพัฒนาทุกด้านของอาเซียนที่สอดคล้องกัน เช่น เสนอให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนที่เท่าเทียมกัน ส่วนด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ ต้องมีการผลักดันไปในทิศทางที่สนับสนุนประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสันติภาพ นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับบทบาทของ AIPA ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรู้แ ละเป็นพันธมิตรในการผลักดันข้อริเริ่มต่างๆ การเร่งรัดกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อให้ความตกลงต่างๆของอาเซียนมีผลบังคับใช้โดยเร็ว และการทำให้กฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน มีความสอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ของสังคม