รองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์ นำคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป วันที่ 1-3 ส.ค.นี้ ที่ กรุงปักกิ่งประเดิมเป็นประธานการประชุมนัดแรกหลังรับตำแหน่ง พร้อมหาทางออกประเด็นคงค้าง ตั้งเป้าขับเคลื่อนการเจรจาให้สำเร็จ ลั่นปิดรอบให้ได้ในปีนี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป (RCEP) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2562 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นการประชุมระหว่างประเทศนัดแรกหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยไทยในฐานะประธานที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนปีนี้ จะต้องทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป 16 ประเทศด้วย การประชุมรอบนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะหาทางออกในประเด็นที่ยังค้างอยู่บนโต๊ะเจรจา เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาสู่เป้าหมาย และปิดรอบให้ได้ในปีนี้
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปในปีนี้ เป็นสิ่งที่ผู้นำอาเซียนให้ความสำคัญ และเป็น 1 ใน 13 ประเด็นเศรษฐกิจ ที่อาเซียนประกาศความตั้งใจว่าจะดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ โดยประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะหารือในการประชุมครั้งนี้ อาทิ ติดตามความคืบหน้าการเจรจา และตัดสินใจระดับนโยบายในเรื่องที่ยังติดขัด โดยเฉพาะความคืบหน้าล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ป ครั้งที่ 27 ซึ่งเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-31 กรกฎาคม 2562 ณ เมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยตั้งเป้าให้การเจรจามีความคืบหน้า เช่น การเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดทำภาคผนวกการเงิน เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากประชุมระดับรัฐมนตรีที่ปักกิ่งแล้ว สมาชิกอาร์เซ็ปจะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอีก 1 ครั้ง ในเดือนตุลาคมนี้ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และการประชุมระดับรัฐมนตรีอีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยหลังจากนี้การประชุมอาร์เซ็ปจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งทุกประเทศจะใช้ความพยายามในการหาทางออกร่วมกัน และแสดงความยืดหยุ่น เพื่อสรุปผลการเจรจาให้สำเร็จตามเป้าหมายในปีนี้
ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าระหว่างประเทศของสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภูมิภาคอาเซียนและอาร์เซ็ป โดยหากการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปประสบผลสำเร็จ จะส่งผลให้อาร์เซ็ปกลายเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากสมาชิกอาร์เซ็ป 16 ประเทศ มีประชากรกว่า 3,560 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการค้าโลก
โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 58.7 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.6 สำหรับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา เครื่องจักรกล และเหล็ก เป็นต้น
ที่มาข่าว:https://www.posttoday.com/economy/596450