ป.ป.ช.แถลงผลศึกษาโครงการสื่อสารยกระดับ CPI เผยผลวิจัยสินบน จนท.รัฐ-บรรษัทข้ามชาติ-นักธุรกิจ พบผู้ประกอบการในไทย 67.5% รับรู้สถานการณ์สินบนในไทย พบ 34.7% รู้จากประสบการณ์ตนเอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าวันที่ 19 ธ.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย เรื่อง “แนวทางพัฒนาการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย” โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (นางจันทิรา จิตรชื่น) ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม และนายเกษมสันต์ วีระกุล ที่ปรึกษาโครงการวิจัย เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย
สำนักวิจัยฯ ได้ดำเนินการโครงการวิจัย เรื่อง “การจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐของบรรษัทข้ามชาติและนักลงทุนที่ประกอบธุรกิจและลงทุนในประเทศไทย” พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยร้อยละ 67.50 รับรู้สถานการณ์การให้และเรียกรับสินบนในกระบวนการลงทุนในประเทศไทย ส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (ร้อยละ 71.80) รองลงมาเป็นคำบอกเล่าจากคนรู้จัก (ร้อยละ 55.20) สื่อโทรทัศน์ (ร้อยละ 53.30) และประสบการณ์จากตนเอง (ร้อยละ 34.70) โดยมีกลุ่มตัวอย่างส่วนน้อยเพียงร้อยละ 3.60 ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารการให้และเรียกรับสินบนจากสื่อสังคมออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. และเมื่อบริษัทถูกเรียกรับสินบนมีเพียงร้อยละ 18.60 ที่ร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรต่อต้านการทุจริต
อนึ่งการศึกษาครั้งนี้ ได้มุ่งศึกษาแนวทางพัฒนาการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. ในกลุ่มเป้าหมายภาคธุรกิจ โดยศึกษามุมมองและความเห็นในเชิงลึกของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และศึกษาแนวทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ขององค์กรต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศ ได้แก่ Independent Commission Against Corruption (ICAC) เขตปกครองพิเศษฮ่องกง Corruption and Civil Rights Commission of Korea (ACRA) สาธารณรัฐเกาหลี Office of Government Inspectorate (GI) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ Komisi Pemberantasan Korupsi (KPK) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งที่สามารถสนับสนุนการผลักดันเป้าหมายในการยกระดับ CPI ของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ของการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่โปร่งใสมากขึ้น