กรมอุทยานฯ เริ่มทยอยส่งคืนสัตว์ป่า 961 ชีวิต กลับถิ่นกำเนิดมาดากัสการ์ ล็อตแรก 16 ลีเมอร์ขึ้นเครื่องบินแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยความคืบหน้าการส่งคืนสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิตจำนวนรวม 961 ตัว กลับสู่ถิ่นกำเนิด ณ สาธารณรัฐมาดากัสการ์ หลังจากที่ได้มีพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ชั้น 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีทส.และ พ.ต.อ.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ส่งมอบ และ Mr. Max Andonirina FONTAINE รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณรัฐมาดากัสการ์ เป็นผู้รับมอบด้วยตัวเอง
นายอรรถพล กล่าวว่า สัตว์ป่าของกลางชุดนี้ประกอบด้วยสัตว์หายากที่เป็นสัญลักษณ์ของมาดากัสการ์ ได้แก่ ลีเมอร์หางวงแหวน (Ring-tailed Lemur) จำนวน 16 ตัว ลีเมอร์สีน้ำตาล (Brown Lemur) จำนวน 31 ตัว เต่าแมงมุม (Spider Tortoise) จำนวน 759 ตัว และเต่าลายรัศมี (Radiated Tortoise) จำนวน 155 ตัว ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic species) ที่พบได้เฉพาะในมาดากัสการ์เท่านั้น มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญา CITES ซึ่งเป็นบัญชีควบคุมการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศที่เข้มงวดที่สุด
นายสดุดี พันธุ์ภักดี ผู้อำนวยการส่วนการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามสัญญา เห็นว่าจำนวนสัตว์มาก การเดินทางใช้ระยะเวลานาน และเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ จึงต้องแบ่งเการขนส่งเป็น 3 ล็อต โดยล็อตแรกได้เริ่มขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 01.00 น.
นางสาวอัจฉริยาภรณ์ ไชยโย หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี รายงานว่าได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายลีเมอร์หางวงแหวน จำนวน 16 ตัว ไปถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 02.45 น. โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เจ้าของคดีเป็นผู้นำขบวนขนส่งและ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามสัญญาเป็นผู้ดำเนินการส่งออก
แม้ว่าการขนส่งจะล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่วางแผนไว้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงกล่องบรรจุให้ได้มาตรฐานการขนส่งสัตว์ป่ามีชีวิตระหว่างประเทศ แต่การดำเนินการยังคงเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยของสัตว์
สำหรับแผนการขนส่งในล็อตถัดไป นายภานุมาศ สามสีเนียม หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เปิดเผยว่า ล็อตที่ 2 จะเป็นการขนส่งลีเมอร์สีน้ำตาล 31 ตัว และเต่าลายรัศมี 155 ตัว ส่วนล็อตที่ 3 จะเป็นการขนส่งเต่าแมงมุม 759 ตัว ซึ่งสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระจะทยอยส่งมอบให้ DSI ดำเนินการตามกระบวนการต่อไปเมื่อมีความพร้อม โดยเฉพาะในด้านมาตรฐานการขนส่งเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของสัตว์ป่าทุกตัว
นายอรรถพล กล่าวว่า ปฏิบัติการส่งคืนสัตว์ป่าครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการคืนสัตว์สู่ถิ่นกำเนิด แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาชาติเพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งสัตว์ทั้งหมดจะได้รับการดูแลอย่างดีระหว่างการขนส่งและเมื่อกลับถึงประเทศต้นทาง เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างปลอดภัยต่อไป