‘พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ’ อธิบดีดีเอสไอ ร่วมกับ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งมอบ ‘ลีเมอร์และเต่าบก’ 4 ชนิด กว่า 900 ชีวิต คืน ‘มาดากัสการ์’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ชั้น 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมพิธีส่งมอบสัตว์ป่าของกลางไปยังสาธารณรัฐมาดากัสการ์ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานส่งมอบ และ Mr. Max Andonirina FONTAINE รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณรัฐมาดากัสการ์ เป็นตัวแทนรับมอบ
สำหรับพิธีส่งมอบสัตว์ป่าของกลางไปยังสาธารณรัฐมาดากัสการ์นี้ จัดขึ้นโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในส่วนของสัตว์ป่าของกลางประกอบด้วย ลีเมอร์หางวงแหวน (Lemur catta) จำนวน 16 ตัว ลีเมอร์สีน้ำตาล (Eulemur fulvus) จำนวน 31 ตัว เต่าแมงมุม (Pyxis arachnoides) จำนวน 759 ตัว และเต่าลายรัศมี (Astrochelys radiata) จำนวน 155 ตัว จำนวนรวม 961 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับมอบจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) จากปฏิบัติการตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยจับกุมได้ที่ จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นสัตว์ป่ามีชีวิต จำนวน 1,109 ตัว ซากสัตว์ จำนวน 8 ซาก จำนวนรวม 1,117 ตัว/ซาก
รายงานข่าวระบุว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณรัฐมาดากัสการ์ มาเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อหารือกรณีการส่งคืนสัตว์ป่า และเข้าเยี่ยมชมสัตว์ป่าของกลางรวมถึงหารือกับผู้แทนหน่วยงานของประเทศไทยเร่งรัดการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและส่งคืนสัตว์ป่าของกลางโดยเร็ว คณะกรรมการดำเนินการแก่สัตว์ป่าซากสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าฯ มีมติเห็นชอบการส่งคืนสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิต ส่วนซากสัตว์ป่าให้ทำลาย
ทั้งนี้ เนื่องจากคดีนี้จัดเป็นคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศด้านสัตว์ป่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก. ปทส.) จึงได้โอนความรับผิดชอบคดีมายัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษและสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จึงร่วมกันเก็บตัวอย่างทางชีววิทยาของสัตว์ป่าของกลางเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน จากนั้นมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาดำเนินการคืนสัตว์ป่าของกลางก่อนสิ้นสุดคดีอย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณสัตว์ป่ามีจำนวนมากทำให้ไม่สามารถขนส่งพร้อมกันได้ในคราวเดียว จึงได้กำหนดแบ่งการขนส่งออกเป็น 3 รอบโดยรอบแรกเริ่มวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 และกรมสอบสวนคดีพิเศษจะขยายผล ดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าดังกล่าวต่อไป