‘ดีเอสไอ’ ส่งสำนวน นายหน้าชาวไทยหลอกลวงชาวเมียนมา ไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เกาะธม ประเทศกัมพูชา ในความผิดฐานค้ามนุษย์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยกองคดีการค้ามนุษย์ ได้นำสำนวนคดีพิเศษที่ 313/2565 กรณีกลุ่มชายสัญชาติเมียนมาถูกหลอกลวงไปบังคับใช้แรงงาน ณ ประเทศกัมพูชา ส่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งกรณีดังกล่าวกองคดีการค้ามนุษย์ได้รับข้อมูลจากศูนย์เครือข่ายและพันธมิตรภาคประชาชน กรมสอบสวนคดีพิเศษว่าได้รับเบาะแสจากสายข่าวว่า มีกลุ่มแรงงานชายสัญชาติเมียนมา จำนวน 9 ราย ได้ถูกนายหน้าหลอกลวงไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ขายสินค้าออนไลน์ในบริษัทสัญชาติจีน ตั้งอยู่ในเมืองเกาะธม จังหวัดกันดาล ประเทศกัมพูชา โดยนายหน้านำพากลุ่มแรงงานดังกล่าว ให้เดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศกัมพูชา ต่อมากลุ่มแรงงานได้ถูกนายจ้างหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกาย และบังคับขู่เข็ญให้โทรศัพท์หลอกลวง ฉ้อโกงลูกค้าให้แก่บริษัทดังกล่าว
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการค้ามนุษย์ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสร็จสิ้น และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นายเหล่าชิง (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหากับพวก รวม 5 ราย ในความผิดฐาน “สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงาน หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน อันเป็นการขูดรีดบุคคล โดยเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก หรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ ซึ่งบุคคลใด โดยข่มขู่ใช้กำลังบังคับ ลักพาตัว ฉ้อฉล หลอกลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ นำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบให้ผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน ของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ร่วมกันใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด พาหรือส่งคนออกไปนอก ราชอาณาจักร”
อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6, 6/1, 9, 10, 11, 52, 52/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310, 320 ประกอบมาตรา 83, 91
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับไว้แล้วและจะดำเนินการติดตามจับกุมมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป