สภาผู้บริโภค ขอภาครัฐให้มีคนนอกเข้าไปร่วมในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ สคบ. มีเอี่ยว ดิไอคอนกรุ๊ปด้วย โดยคนนอกที่ขอประกอบด้วย ‘สภาทนายความ-สภาผู้บริโภค-เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น-สื่อ’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 ตุลาคม 2567 จากกรณีที่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงนามคำสั่งแต่งตั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 369/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ โดยโครงสร้างของคณะกรรมการ มีตัวแทนอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีรายชื่อคนนอกนั้น
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เพื่อสร้างความมั่นใจ โปร่งใส ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของ สคบ.เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ และประชาชนเชื่อถือผลการตรวจสอบ สภาผู้บริโภค เสนอให้สำนักนายกฯ แต่งตั้งบุคคลภายนอกเพิ่มจาก 4 องค์กร ได้แก่ สภาทนายความฯ สภาผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
“การที่โครงสร้างของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีแต่ข้าราชการนั้น อาจทำให้เกิดข้อครหาได้ เพื่อให้ผลสอบที่จะออกมาสาธารณชนยอมรับ ไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู ต้องมีการแต่งตั้งภาคประชาสังคม และองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการเข้าร่วมด้วย” ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าว
นางสาวบุญยืนกล่าวต่อว่า ผู้เสียหายจากกรณีนี้ต้องได้รับการเยียวยาอย่างสมเหตุสมผล ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐคนใดมีส่วนร่วมกับขบวนการบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ก็ต้องถูกลงโทษจากผลของการตรวจสอบข้อเท็จจริง
สำหรับ คำสั่งแต่งตั้งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 369/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ระบุว่า ด้วยปรากฎเป็นข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ และรายการโหนกระแส ซึ่งออกอากาศสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ได้มีการเผยแพร่คลิปเสียงบันทึกการสนทนามีเนื้อหาทำให้เข้าใจได้ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์รายหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องที่ถูกร้องเรียน
ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอันจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ประกอบกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 313/2567 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 กันยายน 2567
ข้อ 6 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ประกอบด้วย
นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ อัยการอาวุโส ประธานกรรมการ
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
นายนิรันด์ ยั่งยืน รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กรรมการ
นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) กรรมการ
พ.ต.ต.จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการ
นายวิทยา นิติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการ
นายปวริษ ผุดผ่อง คณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) กรรมการ
นายวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
หน้าที่และอำนาจ
ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
ข้อ 1 ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมกาารคุ้มครองผู้บริโภค หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ข้อเท็จจริงและมีอำนาจเรียกเอกสารใดๆ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานใดๆ เพื่อประกอบการพิจารณา และให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรวงทอง) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง ในกรณีจำเป็นรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรวงทอง) อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควร
ข้อ 2 คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
ข้อ 3 ให้คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักนายกรัฐมนตรี
ข้อ 4 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย