กสม.ชี้ ‘หน่วยอรินทราช’ ปลิดชีพ ‘สารวัตรกานต์’ กระทำเกินกว่าเหตุ แถมกระบวนการก่อนเข้าจับกุมก็ไม่เหมาะสม แนะตร.เร่งดำเนินการตามอำนาจ ส่วนพนักงานสอบสวน สน.สายไหม ไม่ผิด ไม่ได้ทำคดีช้า ชี้สมเหตุสมผลแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2566 จากผู้ร้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบิดาและมารดาของพ.ต.ท. กิตติกานต์ แสงบุญ หรือ สารวัตรกานต์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 สารวัตรกานต์ สังกัดศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งปฏิบัติภารกิจเข้าระงับเหตุกราดยิง ใช้อาวุธปืนยิงตกจากชั้น 2 ของบ้านพัก บริเวณซอยสายไหม 56 แขวงออเงิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสายไหม (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 ในวันเกิดเหตุไม่เป็นไปตามยุทธวิธีที่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับหลักสากล และหลักสิทธิมนุษยชน และผู้ถูกร้องที่ 2 (พนักงานสอบสวน สน.สายไหม) สอบสวนคดีด้วยความล่าช้า ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว
เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกาย การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ได้วางหลักไว้ว่าบุคคลจะถูกจับหรือควบคุมตัวโดยอำเภอใจมิได้ และมีผลผูกพันให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยบุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
นอกจากนี้หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายได้วางแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาถึงความได้สัดส่วนของการใช้กำลังกับภัยคุกคามที่ต้องเผชิญหน้าโดยเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนไว้ด้วย
กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็นดังนี้
@อรินทราช กระทำเกินกว่าเหตุ
ประเด็นที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์การเสียชีวิตของสารวัตรกานต์หรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงสารวัตรกานต์โดยอ้างความจำเป็นเพื่อการป้องกันตัว เนื่องจากถูกสารวัตรกานต์ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ เป็นการกระทำที่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้
อย่างไรก็ตามเมื่อผลชันสูตรพลิกศพพบว่า กระสุนปืนของผู้ถูกร้องที่ 1 ถูกบริเวณร่างกายของสารวัตรกานต์ รวม 8 นัด ประกอบกับผู้ก่อเหตุเป็นผู้มีภาวการณ์รับรู้ไม่ปกติ ไม่มีตัวประกัน หากปล่อยเวลาให้ทอดยาวออกไปผู้ก่อเหตุก็ต้องอ่อนเพลีย การที่เจ้าหน้าที่เร่งรัดเวลาเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้อาการของผู้ก่อเหตุกำเริบ และการให้ผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ออกคำสั่งย้ายผู้ก่อเหตุไปทำหน้าที่เจรจา ทั้งที่ทราบว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ก่อเหตุในครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ ไม่ได้สัดส่วนตามที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำโดรนและหุ่นยนต์ตรวจการณ์เข้าไปปฏิบัติงานภายในพื้นที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่พบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ได้บันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะเข้าไปในบ้านเพื่อควบคุมตัวสารวัตรกานต์ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จึงเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ไม่บันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
@พนักงานสอบสวน สน.สายไหม ทำถูกต้องแล้ว
ประเด็นที่สอง พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสายไหม (ผู้ถูกร้องที่ 2) ซึ่งได้รับคำร้องทุกข์กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นทางคดีเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นจำเลยหรือไม่ สอบสวนคดีโดยล่าช้า หรือไม่นั้น
เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ทำการสอบสวนคดีอันเป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยการสอบสวนแบ่งออกเป็น 3 คดี ได้แก่
(1) สำนวนคดีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งมีการเสนอรายงานการสอบสวนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเสนอต่อศาลให้สอบสวนการตาย และต่อมาศาลอาญามีคำสั่งแล้วว่าสารวัตรกานต์ถึงแก่ความตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่
(2) สำนวนคดีอาญาที่กล่าวหาสารวัตรกานต์ในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ และพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียทรัพย์ และยิงปืนในที่สาธารณะโดยใช่เหตุ ซึ่งคดียุติลงเพราะผู้ต้องหาเสียชีวิต
และ (3) สำนวนคดีอาญาที่กล่าวหาผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป
กสม. เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้สอบสวนคดีที่เกิดขึ้นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ อันถือว่าเป็นการสอบสวนอย่างถูกต้องแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาในรายละเอียดการสอบสวนคดีที่มีผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้ต้องหา พบว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้รับฟังและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้แจ้งความคืบหน้าของการสอบสวนให้ผู้เสียหายทราบ ซึ่งถือว่าเป็นการสอบสวนอย่างเป็นธรรมแก่คู่กรณี
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระยะเวลาที่ใช้ในการสอบสวนจนกระทั่งสรุปสำนวน ก็อยู่ภายในระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะพิจารณาต่อไปได้ แสดงให้เห็นว่าการสอบสวนคดีมิได้ล่าช้า จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 2 กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
@กระบวนการเข้าจับกุม ไม่เหมาะสม
กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สารวัตรกานต์มีอาการคลุ้มคลั่ง หวาดระแวง เครียด และไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ เข้าข่ายป่วยทางจิต มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้กันมิให้ประชาชนเข้าไปในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุแล้ว รวมถึงไม่มีบุคคลใดตกเป็นตัวประกัน การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ระยะเวลาเจรจาต่อรอง ปิดล้อมพื้นที่ และใช้แก๊สน้ำตากดดันสารวัตรกานต์ เพียง 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติการภายในบ้านของสารวัตรกานต์ เป็นการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์วิกฤติที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับหลักการ และมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรอง เนื่องจากใช้เวลาน้อยเกินไป ทั้งที่ควรใช้เวลาให้นานขึ้นจนกว่าสารวัตรกานต์จะอ่อนเพลียและหมดแรงลงไป เพื่อไม่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ควบคู่ไปกับการหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ยุทธวิธีระงับเหตุที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของสารวัตรกานต์ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
@จี้ ตร. ลงดาบ อรินทราช - เยียวยาผู้สูญเสีย
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตรวจสอบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 (ผู้ถูกร้องที่ 1) รวมถึงให้เร่งพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่ 233/2566 เพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย และให้จัดอบรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับหลักการบริหารเหตุการณ์วิกฤติและการเจรจาต่อรอง แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเผชิญเหตุก่อน รวมทั้งให้จัดนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาและประเมินสุขภาพจิตประจำปีให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสภาพจิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน ให้รีบบริหารจัดการด้วยการให้การรักษาและการเปลี่ยนหน้าที่ เพื่อป้องกันมิให้มีการก่อเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และให้พิจารณากำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารเหตุการณ์วิกฤติและการเจรจาต่อรองเป็นการเฉพาะเพื่อรองรับการปฏิบัติงานในลักษณะเดียวกันกับกรณีนี้