‘ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล’ ประธานศาลฎีกาคนใหม่ ประกาศแนวนโยบาย “สานต่อ เสริมสร้าง ส่งต่ออย่างยั่งยืน” ขอทุกภาคส่วน ในระยะ 1 ปีต่อจากนี้ ตั้งใจปฏิบัติราชการด้วยความสง่างาม ตระหนักในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม ตามวิถีทางแห่งตุลาการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 4 ตุลาคม 2567 นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกาเผยแพร่นโยบาย “สานต่อ เสริมสร้าง ส่งต่ออย่างยั่งยืน” เป็นแนวปฏิบัติแก่ผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ประจำปี 2567-2568 ภายใต้หลักการ “ยึดมั่นในหน้าที่ ตามวิถีตุลาการ”
โดยนางชนากานต์กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนที่ 50 พร้อมกันนี้ประธานศาลฎีกาได้กล่าวให้คำมั่นด้วยว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อขับเคลื่อนองค์กรศาลยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และขอบคุณบุคลากรในองค์กรศาลยุติธรรมทั้งผู้บริหารศาล ผู้พิพากษา ดะโต๊ะยุติธรรม ผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอม ข้าราชการศาลยุติธรรม พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมที่ได้ร่วมกันปฏิบัติราชการและอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยดีตลอดมา และในปีนี้เชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือร่วมใจ ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ทางปฏิบัติเพื่อให้สัมฤทธิ์ประโยชน์แก่คู่ความ สังคม ประเทศชาติ และในระยะเวลา 1 ปีต่อจากนี้ ขอให้ทุกคนตั้งใจร่วมกันว่าศาลยุติธรรมจะปฏิบัติราชการด้วยความสง่างาม ตระหนักในหน้าที่ รับผิดชอบต่อสังคม ตามวิถีทางแห่งตุลาการ
สำหรับแนวนโยบาย “สานต่อ เสริมสร้าง ส่งต่ออย่างยั่งยืน” สรุปได้ดังนี้
“สานต่อ” ได้แก่การส่งเสริมและพัฒนาตามแนวนโยบายที่ดำเนินการมาแล้วเพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนใน 6 ด้าน ประกอบด้วย
1. การอำนวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนและความมั่นคงของสังคม
2. การระงับข้อพิพาททางเลือกโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงบริบทของแต่ละศาล
3. การนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดภาระในการปฏิบัติงานของบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน
4. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของศาลยุติธรรมด้านการศึกษา คุณธรรม และจริยธรรม เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน และพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
5. ส่งเสริมและพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของบุคลากร และบุคคลในครอบครัวของบุคลากร
6. ส่งเสริมและพัฒนาการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้เยาวชน และประชาชนเข้าใจ เข้าถึงกระบวนการทางศาล และรับรู้สิทธิของตนตามกฎหมาย
“เสริมสร้าง” ได้แก่การสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อการอำนวยความยุติธรรมตามภารกิจและหน้าที่ของศาลยุติธรรม ซึ่งมีด้วยกัน 9 ข้อ ประกอบด้วย
1. เสริมสร้างคุณภาพของคำสั่งและคำพิพากษาให้การทำคำสั่งและคำพิพากษาในข้อเท็จจริงเดียวกันเป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้ความสำคัญกับคุณภาพของคำสั่งและคำพิพากษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน
2. สร้าง พัฒนา และปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาอบรม และการอบรมของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคม
3. ทบทวน และปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสอบคัดเลือก ระบบการสอบคัดเลือก และการทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาให้เป็นที่ยอมรับ เสมอภาค และเท่าเทียม
4. สนับสนุนบทบาทของผู้พิพากษาอาวุโสเพื่อให้สามารถนำความรู้ ประสบการณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการศาลยุติธรรมและประชาชน
5. พัฒนาระบบการจัดการแหล่งความรู้ การเชื่อมโยงข้อมูล การสืบค้นข้อมูล คำสั่งและคำพิพากษาของศาล เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของผู้พิพากษาและบุคลากร ควบคู่ไปกับระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม
6. ยกระดับมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมให้สามารถนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเหมาะสม มาใช้ในการปฏิบัติราชการเพื่อประโยชน์แก่ราชการศาลยุติธรรมและประชาชน
7. สร้างกลไกหรือรูปแบบการดูแลรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนประชาชนที่มาติดต่อราชการศาลยุติธรรม
8. ส่งเสริมการนำนวัตกรรมเพื่อลดขั้นตอนในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน
9. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของบุคลากรศาลยุติธรรม ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และประชาชน โดยพัฒนาช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องสำหรับบุคลากรศาลยุติธรรม ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย รวมทั้งการปฏิบัติราชการของศาลยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ ให้แก่เยาวชน และประชาชน
“ส่งต่ออย่างยั่งยืน” ได้แก่การยึดมั่นและตระหนักในการทำหน้าที่ภายใต้กฎหมาย เพื่อความสงบสุขของสังคม ด้วยระบบคุณภาพและระบบคุณธรรม ประกอบด้วยกัน 6 ข้อ คือ
1. การสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้แก่ประชาชนโดยการปฏิบัติหน้าที่ และดำรงตนอย่างสง่างามตามประมวลจริยธรรม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบ ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการดำรงตนของผู้พิพากษา ข้าราชการศาลยุติธรรม ดะโต๊ะยุติธรรม ผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอม
2. สร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นคงปลอดภัย เพื่อผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยพัฒนาและดำเนินการในด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ กำหนดอัตรากำลังของเจ้าพนักงานตำรวจศาลให้มีความเหมาะสม, จัดระบบการบันทึกภาพและเสียงภายในห้องพิจารณาคดีและบริเวณศาลอย่างทั่วถึง
3. การอำนวยความยุติธรรมและการให้บริการประชาชนด้วยมาตรฐานเดียวกัน
4. พัฒนาระบบติดตามและประเมินผล เพื่อพัฒนาการปฏิบัติราชการศาลยุติธรรมจากข้อมูลที่ถูกต้องรวมทั้งผลการทำงานของแต่ละศาลให้มีประสิทธิภาพ
5. เชื่อมโยงและบูรณาการในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภายในศาลยุติธรรม หน่วยงานภายนอก และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
6. ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญเรื่องการลดการสิ้นเปลืองจากวัสดุอุปกรณ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญและส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และกำหนดมาตรการที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองจากการใช้วัสดุอุปกรณ์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม