สภาผู้บริโภค ใช้โอกาสวัน ‘Car Free Day’ ผลักดันระบบขนส่ง สะดวก-ปลอดภัย-ราคาเหมาะสม มุ่งสู่ ‘Just City’ เมืองที่เป็นธรรมต่อทุกคน-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2567 ตรงกับวัน “World Car Free Day” หรือ “วันปลอดรถโลก” เป็นวันที่องค์กรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ การปั่นจักรยาน การเดิน หรือรณรงค์ทางเดียวกันไปด้วยกันมากขึ้น เพื่อลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีแนวคิดการผลักดันให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และมีราคาเหมาะสมกับค่าครองชีพ และเพื่อผลักดันสู่ ‘เมืองที่เป็นธรรมต่อทุกคน’ (Just City) ทั้งคนที่เดินเท้า ปั่นจักรยาน ใช้รถยนต์ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงกลุ่มคนเปราะบาง ผู้พิการ เด็ก คนแก่ คนท้อง หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในแบบอื่น ๆ แนวคิดข้างต้นไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายในระดับสภาผู้บริโภคเท่านั้น แต่เป็นแนวโน้มของโลกที่จะลดปัญหาเรื่องของการเจ็บตายบนถนน การรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการออกแบบและสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่สอดคล้องกับ Sustainable Development Goals หรือ SDG เป็นเป้าหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นมติร่วมกันของ 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติที่ต้องทำให้ได้ภายในปี 2030 โดยเป็นการพัฒนาที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทําลายหรือดึงทรัพยากรในอนาคตมาใช้
ยกตัวอย่างการเดินทางในประเทศญี่ปุ่นที่มีความสะดวกในการเข้าถึงรถสาธารณะ รวมถึงคนท้อง คนแก่ แทบจะไม่มีความจําเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัว ถึงขึ้นมีคนพูดกันเล่น ๆ ว่า หากถ้าคิดจะซื้อรถใหม่ในญี่ปุ่นภรรยาจะบอกสามีเลยว่า “ไม่ต้องมาอ้างเหตุผลว่าฉันกําลังจะคลอดลูกแล้วคุณจําเป็นต้องซื้อรถใหม่ เพราะมันไม่มีความจำเป็นเลย ทุกคนสามารถขึ้นใช้ระบบขนส่งสาธรณะได้อย่างสะดวกสบาย”
นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่มีการใช้รถสาธารณะเป็นประจํา นักเรียนที่ขึ้นรถไปตามชานเมืองก็จะมีการใช้รถไฟฟ้าที่ไม่มีคนขับ เพราะสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปหาอีกจุดหนึ่งได้ด้วยความสม่ำเสมอ ตรงเวลา ระบบขนส่งในลักษณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก
ในประเทศเยอรมนี ประชากรสามารถจะปั่นจักรยานจากบ้าน ไปจอดที่จุดขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินแล้วใช้ระบบขนส่งสาธาณะเข้าไปในเมือง และเมื่อถึงจุดที่จะลง ก็จะมีจุดรับรถจักรยานสำหรับเดินทางต่อเพื่อจะไปที่ทํางานได้
ยิ่งไปกว่านั้น ที่เมืองสตุดการ์ท (Stuttgart) มีการกำหนดว่า รถที่วิ่งอยู่ในเขตเมืองส่วนใหญ่ต้องเป็นรถสาธารณะ มีรถส่วนบุคคลเป็นส่วนน้อย ทั้งยังประกาศอีกว่า ภายในปี 2030 รถทุกคันที่วิ่งอยู่ในเมืองจะต้องไม่เป็นรถเครื่องยนต์สันดาป เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า
นพ. อนุชา เห็นว่า หากค่อย ๆ ผลักดันเรื่องนี้ให้พัฒนาไปทีละขั้นก็จะเอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งในเชิงความประหยัด ความปลอดภัย และความสะดวก ทั้งต่อคนทั่วไป รวมถึงกลุ่มคนเปราะบาง คนแก่ คนท้อง คนพิการ หรือคนที่เพิ่งพักฟื้นหลังผ่าตัดต่าง ๆ
เชื่อว่าการที่มีสภาผู้บริโภคหรือระบบคุ้มครองผู้บริโภคอื่น ๆ สามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก”ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะฯ เชื่อมั่น และเสนอว่า ความสำเร็จของเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากมีเพียงสภาผู้บริโภคที่ผลักดัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลายองค์กร เช่น ในอนุกรรมการของสภาผู้บริโภคเอง การผลักดันให้เกิด Just City ก็จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายอนุฯ นอกจากนี้ยังต้องไปร่วมมือกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อาศัยการวิจัยของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ซึ่งมีกำลังเงินสนับสนุนเรื่องความปลอดภัยในระดับจังหวัด นอกจากนี้ อาจรวมถึงรัฐสภา คณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระอย่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
นพ. อนุชา กล่าวว่า สิ่งที่เรากําลังทําทุกวันนี้ ไม่ว่าจะทําในระดับอนุกรรมการ ไปจนถึงเครือข่ายในต่างจังหวัดที่พยายามทําให้เครื่องของการขนส่งสาธารณะเป็นคําตอบ ไม่ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต รวมถึงอีกหลาย ๆ เมืองที่พยายามเชื่อมระบบขนส่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงไปถึงสถานที่สำคัญเช่น สนามบิน แหล่งท่องเที่ยว ชุมชน มหาวิทยาลัย ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้นที่ทุก ๆ ฝ่ายต้องต้องขยับต่อไป
"ดังนั้น การผลักดัน เพื่อมุ่งสู่ ‘เมืองที่เป็นธรรมต่อทุกคน’ สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลย และต้องทำควบคู่กันไปด้วย นั่นก็คือปลูกฝังงให้ประชาชนมีแนวคิดเรื่อง 'smart mobility' หรือ 'การเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ' เมื่อมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีแล้ว พลเมืองในประเทศก็ต้องเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เคลื่อนย้ายตัวเองจากจุดหนึ่งเป็นจุดหนึ่งโดยไม่เดือดร้อน ไม่ทำให้เกิดต่อการเจ็บ การตาย และไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการเดินเท้า การปั่นจักรยาน หรือใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้า" นพ. อนุชา กล่าว