กสม.เสนอแนวทางคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์มานิ แม้ตอนนี้ยังไม่พบเหตุ จนท.รัฐละเมิดสิทธิ ชี้โครงการขยะมูลฝอยเชียงรายดำเนินการไร้ ปชช.มีส่วนร่วม เหตุช่วงเปิดเวทีรับฟังความเห็นปลาย ก.ย.64 ไม่ได้ระบุที่ตั้ง พร้อมผลกระทบอย่างชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 19 ก.ย. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. กสม. เสนอแนวทางการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและได้รับการคุ้มครองทางวัฒนธรรม
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายชาติพันธุ์มานิในจังหวัดพัทลุง ระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิ หรือ “มันนิ” ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โฉนดชุมชนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวิถีดั้งเดิม และไม่สามารถป้องกันตนจากการถูกข่มขู่ คุกคาม หรือเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผลประโยชน์
จึงขอให้มีการแสวงหาแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ และขอให้ประกาศเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์มานิเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิทั้งสามกลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยการอาศัยอยู่ในป่าลึก (2) กลุ่มที่มีการตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร และ (3) กลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานถาวร
กสม. ได้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาสังคม เครือข่ายประชาชน รวมทั้งพิจารณาหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐในการส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ หลักการเดียวกันนี้ยังปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
จากการศึกษาพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิอาศัยอยู่ตามแนวเทือกเขาและภูเขาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และแถบเทือกเขาสันกาลาคีรี ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบหาของป่า อยู่ร่วมกับระบบนิเวศวิทยาทางธรรมชาติ ดำรงชีวิตด้วยการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยไปตามความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
และใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ใช้ทรัพยากรในป่าและหมุนเวียนไปตั้งทับ (กระท่อม) ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาลแล้วกลับมาอยู่พื้นที่เดิมทั้งในหรือนอกเขตอุทยานและเขตป่าสงวน ปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์มานิมีความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคง จากเหตุทรัพยากรในป่าที่ลดน้อยลงทำให้ต้องปรับตัวและออกมาหากินใกล้เมืองด้วยการรับจ้างทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว
เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐแล้วพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น แก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ ส่งเสริมอาชีพ ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน จัดการศึกษาและบริการสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี
เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้น ๆ แล้ว ประกอบกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างคณะกรรมาธิการพิจารณาปรับแก้ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นกฎหมายสำหรับปกป้องและคุ้มครองสิทธิให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ ในประเด็นการจัดการให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหน่วยงานของรัฐได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้สำรวจการถือครองที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้ครบทุกกลุ่ม
โดยอ้างเหตุผลมีกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร และดำเนินชีวิตในพื้นที่ป่าไม้หมุนเวียนไปตั้งทับ (กระท่อม) ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ย่อมเป็นการนำวิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่าพื้นเมืองมาเป็นเงื่อนไขตัดสิทธิในการขอมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน จึงเป็นการจำกัดสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์มานิเกินสมควรแก่กรณี เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ กสม. มีข้อสังเกตว่า นโยบายและการดำเนินการของรัฐที่ผ่านมาในการส่งเสริมหรือคุ้มครองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ไม่ได้พิจารณาถึงความต้องการและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์มานิอย่างแท้จริง ฉะนั้น ภาครัฐและภาคประชาสังคมต้องเชื่อมั่นในศักยภาพและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ
ส่งเสริมให้มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองและกำหนดเจตจำนงของตัวเองได้ เพื่อให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในเรื่องวิถีชีวิตและเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง “พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม” ที่ไม่ใช่การให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่เป็นการให้สิทธิในการจัดการที่ดิน สิทธิที่จะได้ใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิม และสิทธิในชุมชนดั้งเดิม ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้การคุ้มครอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้
(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำรวจการถือครองที่ดินและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของกลุ่มชาติพันธุ์มานิทั้ง 3 กลุ่ม รวมทั้งสำรวจพิกัดการตั้งทับหมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ
โดยกำหนดหลักเกณฑ์การสำรวจตามที่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 กำหนด เพื่อให้มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิตามกฎหมาย และให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผลการสำรวจการใช้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์มานิให้ประชาชนทั่วไปทราบ เพื่อป้องกันมิให้มีข้อขัดแย้งหรือความเข้าใจผิด และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม
(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำรวจการถือครองที่ดินและศึกษาวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์มานิแต่ละกลุ่ม และให้กระทรวงวัฒนธรรมศึกษาหาแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ พัฒนาศักยภาพความเป็นพลเมือง
ยกระดับคุณค่าภูมิปัญญา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิได้รับการคุ้มครองสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน มีพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มานิ โดย สำรวจ เก็บข้อมูลและจัดทำฐานข้อมูลโดยรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
(3) ให้กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พิจารณาแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎรให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่เป็นคนไทยเพื่อเข้าสู่ทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้องและเป็นจริง และให้กำหนดสถานะบุคคลและรับรองสิทธิในสัญชาติตามกฎหมายให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิตามหลักการรับรองให้ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในทุกแห่งหน
โดยถือปฏิบัติตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309/ ว 24900 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เรื่อง การจัดทำทะเบียนราษฎรเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะบุคคลของชนเผ่าซาไกหรือมานิ และมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่อพยพเข้ามาและอยู่อาศัยมานาน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นเวลานาน
(4) ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอันจำเป็นและสิทธิในสวัสดิการของรัฐ
รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์มานิเกี่ยวกับหน้าที่ความเป็นพลเมืองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานหรือบุคคลที่กลุ่มชาติพันธุ์มานิไว้วางใจ
(5) ให้สภาผู้แทนราษฎรเร่งรัดการพิจารณาและตรากฎหมายชาติพันธุ์ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้เข้าถึงสิทธิทางวัฒนธรรม ส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ และสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ตามเจตนารมณ์ของร่างกฎหมาย รวมถึงป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
2. กสม. ตรวจสอบโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ จ. เชียงรายชี้สถานที่ตั้งโครงการไม่เหมาะสมและขาดการมีส่วนร่วม กระทบสิทธิการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน
นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ระบุว่า โครงการบริหารและจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ดำเนินการโดย องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง (อบต. ป่าหุ่ง) ล้อมรอบด้วยชุมชนกว่า 11 หมู่บ้าน วัด โบราณสถาน แหล่งน้ำ และพื้นที่ทางการเกษตร
ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่ทราบข้อมูลมาก่อนกระทั่งมีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ผู้ร้องเห็นว่า โครงการฯ ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับการชี้แจงข้อมูลที่เพียงพอจากหน่วยงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีข้อห่วงกังวลถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากจะมีการนำขยะจำนวนมากจากนอกพื้นที่เข้ามาเพื่อผลิตไฟฟ้า อาจเกิดปัญหามลพิษและกระทบต่อแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภค จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และมาตรา 41 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โครงการฯ ของ อบต. ป่าหุ่ง ผู้ถูกร้อง เป็นการมอบหมายให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการกําจัดมูลฝอย โดยมีกำลังผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ในพื้นที่หมู่ที่ 12 บ้านห้วยประสิทธิ์ ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2556
โดยเป็นที่ราบที่ประชาชนใช้ทำการเกษตรและมีชุมชนอยู่โดยรอบ มีคลองชลประทานขนาดใหญ่ไหลผ่านพื้นที่ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำห้วยทรายงามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้ประชาชนบ้านห้วยประสิทธิ์ มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคและทำการเกษตรตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ในบริเวณพื้นที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ยังตรวจสอบพบโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยประสิทธิ์ ตำบลป่าหุ่ง และบ้านท่าดีหมี ตำบลเมืองพาน ด้วย
กสม. เห็นว่า การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการในพื้นที่ดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกระทบต่อแหล่งโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนต่อโครงการฯ เห็นว่า
อบต. ป่าหุ่ง ผู้ถูกร้อง ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประชาชน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ณ ศาลาอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลป่าหุ่ง
แต่ไม่ได้ระบุสถานที่ตั้งโครงการฯ อย่างชัดเจนและไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการฯ และพื้นที่ใกล้เคียง
กสม. เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิทธิเชิงกระบวนการอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนไปสู่การคุ้มครองสิทธิเชิงเนื้อหา การที่ผู้ถูกร้องจัดรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อมูลแก่ประชาชนไม่ครบถ้วน ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสาร รวมทั้งสิทธิได้รับข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้จึงรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า ผู้ร้องและกลุ่มผู้คัดค้านโครงการฯ ถูกข่มขู่คุกคามให้หยุดเคลื่อนไหว และมีการเสนอผลประโยชน์ให้แก่แกนนำผู้คัดค้าน กรณีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามด้วย
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยัง อบต. ป่าหุ่ง ผู้ถูกร้อง จังหวัดเชียงราย และกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ ดังนี้
(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ อบต. ป่าหุ่ง จังหวัดเชียงราย และกระทรวงมหาดไทย ทบทวนการเลือกพื้นที่หมู่ที่ 12 บ้านห้วยประสิทธิ์ ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่ตั้งโครงการฯ ทั้งนี้ ให้ศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในจังหวัดเชียงราย
โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งโบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ ให้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการและผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมทั้งจัดให้กลุ่มเป้าหมายที่มีทะเบียนบ้านทุกครัวเรือนในรัศมี
3 กิโลเมตรรอบโครงการ เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
(2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2556 ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยและเชื้อเพลิงชีวมวลบนที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม และให้จังหวัดเชียงรายกำหนดมาตรการเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามต่อกลุ่มผู้คัดค้านโครงการด้วย