วธ.ประกาศผลการคัดเลือก "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปี 2567 โดยประชาชนร่วมโหวตเมนูในทุกจังหวัด 1.99 แสนคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ดำเนินการคัดเลือกอาหารถิ่นประจำจังหวัด ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food รสชาติที่หายไป The Lost Taste) ประจำปี 2567 โดยแต่ละจังหวัด มีคณะกรรมการประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทนที่เป็นประธาน เพื่อดำเนินการคัดเลือก รวมทั้งเปิดให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดร่วมโหวตเมนูที่ควรได้รับการคัดเลือกในจังหวัดตนเองพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-9 ส.ค. 67 ที่ผ่านมานั้น
รมว.วธ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ประจำปี 2567 มีเมนูอาหารที่ให้ประชาชนร่วมโหวตทั่วประเทศ 563 รายการ แบ่งเป็นเมนูอาหารคาว 234 รายการ เมนูอาหารหวาน 184 รายการ เมนูอาหารว่าง 143 รายการ และเมนูอาหารอื่น 2 รายการ ทั้งนี้ ประชาชนได้มีส่วนร่วมโหวตคัดเลือกผ่านสื่อท้องถิ่น สื่อออนไลน์ต่างๆ ทุกช่องทาง ซึ่งแต่ละเมนูมีความพิเศษและสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแต่ละจังหวัดอย่างชัดเจน เช่น เมนูอาหารหวานจาก จ.ปราจีนบุรี “ขนมหน่อไม้” ได้รับความสนใจและมีการโหวตสูงสุดถึง 22,945 คะแนน รองลงมาได้แก่ เมนูอาหารหวาน “ขนมถังแตกมอญ” จาก จ.กาญจนบุรี 4,660 คะแนน และ เมนูอาหารคาว “ปลายอก ข้าวบอก” จาก จ.กระบี่ 4,259 คะแนน นอกจากนี้ยังมีเมนูที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ “ขนมเหนียวสูตรโบราณ” จาก กทม. , “กะละแมรวงข้าวเม็ดบัว” จาก จ.ปทุมธานี “ยำไก่ผีปู่ย่า” จาก จ.สุโขทัย, “แกงอีเหี่ยว”จาก จ.เพชรบูรณ์ และ “แกงคั่วหนามพุงดอหมูย่าง” จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์, “ข้าวมัน แกงตอแมะห์ปลา” จาก จ.สตูล “น้ำพริกหมู (โคราช)” จาก จ.นครราชสีมา, “นมเนียล” จาก จ.สุรินทร์ เป็นต้น
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอาหารไทยและวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับอาหารถิ่นของไทย พร้อมทั้งต่อยอดภูมิปัญญาด้านสมุนไพรและสรรพคุณทางเลือกที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรมทั่วประเทศ ในการคัดสรรเมนูอาหารถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และมีรสชาติที่โดดเด่น ซึ่งมีหลายเมนูที่หลายคนอาจยังไม่เคยลิ้มลอง อีกทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาหารถิ่นไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ตลอดจนยกระดับอัตลักษณ์อาหารไทยในเวทีสากลด้วย กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์อาหารถิ่นไทย แต่ยังส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยอดเยี่ยม และเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศได้ตามรอยและลิ้มรสอาหารถิ่นที่มีความพิเศษจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อเมนูอาหารถิ่น พร้อมร้านจำหน่ายได้ที่ เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หรือ Facebook กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Facebook สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ
รายการเมนูอาหารถิ่นที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกโดยได้รับการโหวตจากประชาชนในพื้นที่ จำนวน 77 เมนู ดังนี้
1.ขนมเหนียวสูตรโบราณ กรุงเทพมหานคร 2.ข้าวตอกอัด (ข้างวัดเสด็จ) อบควันเทียน จังหวัดกำแพงเพชร 3. แกงแคกุ้งสดกุ้งฝอย จังหวัดเชียงราย 4. ขนมวง จังหวัดเชียงใหม่ 5. กระบองจ่อ จังหวัดตาก 6. แกงนอกหม้อ จังหวัดนครสวรรค์ 7. ขนมอั่ว จังหวัดน่าน 8. ข้าวต้มหัวหงอก จังหวัดพะเยา 9. แกงหน่อส้ม จังหวัดพิจิตร 10. หลามไก่ ไข่ป่าม จังหวัดพิษณุโลก 11. แกงอีเหี่ยว จังหวัดเพชรบูรณ์ 12. ขนมเส้นน้ำใสเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 13. สาละพู จังหวัดแม่ฮ่องสอน 14. แกงฮังเล จังหวัดลำปาง 15. ขนมปาด จังหวัดลำพูน 16. ยำไก่ผีปู่ย่า จังหวัดสุโขทัย 17. ไส้กรอกใหญ่รสเด็ดโบราณพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ 18. ชว้าไก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ 19. ข้าวโจ้โรยงา จังหวัดขอนแก่น 20. หมกลาบปลาตอง จังหวัดชัยภูมิ
21. กะละแมโบราณนครพนม จังหวัดนครพนม 22. น้ำพริกหมู (โคราช) จังหวัดนครราชสีมา 23. ซั่วไก่ จังหวัดบึงกาฬ 24. กุ้งจ่อมผัดสมุนไพร จังหวัดบุรีรัมย์ 25. ลาบปูนา จังหวัดมหาสารคาม 26. ข้าวต้มพันตองหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร 27. ลาบปลาแม่น้ำชี จังหวัดยโสธร 28. ลาบปูนา จังหวัดร้อยเอ็ด 29. เมี่ยงโค้นน้ำผักสะทอน จังหวัดเลย 30. ปาดหรือแป้งปิ้งโบราณ – เซาอัง จังหวัดศรีสะเกษ 31. ส้มตีนโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร 32. นมเนียล จังหวัดสุรินทร์ 33. ผัดจังโก้ (แบบดั้งเดิม) จังหวัดหนองคาย 34. ป่นปลาเข็ง จังหวัดหนองบัวลำภู 35. ลาบปลาคังแม่น้ำโขงสมุนไพร จังหวัดอำนาจเจริญ 36. ข้าวเม่า บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 37. วุ้นตาลน้ำกะทิ จังหวัดอุบลราชธานี 38. ขนมถังแตกมอญ จังหวัดกาญจนบุรี 39. ยำส้มโอขาวแตงกวากุ้งสด จังหวัดชัยนาท
ขนมปาด จ.ลำพูน
40. แกงขาหมูใบมะดัน (ใส่กรุบมะพร้าว) จังหวัดนครปฐม 41. ทอดมันหน่อกะลา น้ำจิ้มกระท้อน จังหวัดนนทบุรี 42. กาละแมรวงข้าวเม็ดบัว จังหวัดปทุมธานี 43. แกงคั่วหนามพุงดอหมูย่าง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 44. ขนมพระพาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 45. น้ำพริกลำแพน จังหวัดเพชรบุรี 46. ไก่ย่างบางตาล จังหวัดราชบุรี 47. แกงคั่วกระท้อน จังหวัดลพบุรี 48. ต้มกะทิสายบัวปลาทูแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม 49. แกงคั่วชะครามปูไข่ จังหวัดสมุทรสาคร 50. ปลาช่อนแม่ลาเผา จังหวัดสิงห์บุรี 51. น้ำพริกไปนา จังหวัดสุพรรณบุรี 52. ขนมเกสรลำเจียก จังหวัดอ่างทอง 53. ต้มยำไก่ไทยใบมะขามอ่อน จังหวัดอุทัยธานี 54. แกงส้มใบสันดาน จังหวัดจันทบุรี 55.มะม่วงน้ำปลาหวานปลาช่อนย่างแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา 56. เมี่ยงคำก๋วยเตี๋ยว จังหวัดชลบุรี 57. ข้าวเหนียวเหลือง จังหวัดตราด 58. ขนมกุยช่าย จังหวัดนครนายก 59. ขนมหน่อไม้ จังหวัดปราจีนบุรี 60. กะปิคั่ว จังหวัดระยอง
ขนมเส้นน้ำใส จ.แพร่
61. ปั้นขลิบปลาสลิดหอมบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ 62. หมกหน่อไม้ทรงเครื่องสมุนไพร จังหวัดสระแก้ว 63. ข้าวผัดข้าวเจ๊กเชย เสาไห้ จังหวัดสระบุรี 64. ปลายอก ข้าวบอก จังหวัดกระบี่ 65. ขนมล่อจี้ จังหวัดชุมพร 66. โหลวหมี่หรือหมี่หน่ำเหลี่ยว (หมี่น้ำหลอ) จังหวัดตรัง 67. ขนมขึ้น จังหวัดนครศรีธรรมราช 68. ตูปะซูตง (หมึกยัดไส้ข้าวเหนียว) จังหวัดนราธิวาส 69. มะตะบะปูยุด จังหวัดปัตตานี 70. กระดูกอ่อนคั่วเครื่องราหัวเปราะ จังหวัดพังงา 71. แกงน้ำเคยใบพาโหมปลาช่อนย่าง จังหวัดพัทลุง 72. ยำย่าหนัด จังหวัดภูเก็ต 73. ซามาอาซัมกลูโก จังหวัดยะลา 74. ปลาหลุมพุกต้มเค็ม จังหวัดระนอง 75. เต้าคั่ว จังหวัดสงขลา 76. ข้าวมัน แกงตอแมะห์ปลาจังหวัดสตูล 77. ผัดไทยท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี