ครม.ไฟเขียวให้กรมชลประทานใช้งบกลาง 867 ล้าน ซ่อมอาคารเสียหายจากอุกทกภัยปี 2567 227 รายการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทาน ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 867,812,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 รวม 227 รายการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้ และอ่าวไทย ในช่วงปีพ.ศ. 2566 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งส่งผลกระทบให้อาคารชลประทานต่างๆ ในความรับผิดชอบของกรมชลประทานได้รับความเสียหาย ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศในด้านภาคการเกษตร ภาคอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในส่วนของกรมชลประทาน คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ก.ช.ภ.จ.) ได้มีมติรับรองความเสียหายของอาคารชลประทาน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุราษฎร์ธานี พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการซ่อมแซมควบคุมอาคาร และระบบชลประทานโดยเร่งด่วน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความจำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการซ่อมแซมอาคารชลประทานที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2567 จำนวน 227 รายการ วงเงิน 867,812,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามนัยข้อ 9 (3) ของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562
(1) เพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคาร และระบบชลประทานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และการใช้ให้กับคืนสุขภาพเดิม หรือมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีสภาพพร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้น สามารถรองรับปริมาณน้ำหลักได้
(2) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อกิจกรรมอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยแผนงานโครงการ ขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 867,812,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ผลลัพธ์ของโครงการ กรมชลประทาน จะมีอาคารชลประทาน จำนวน 227 รายการที่มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ