นิเทศ จุฬาฯ จับมือสมาคมนักข่าวฯ ผลักดันนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ หวังยกระดับมาตรฐานการทำงานของสื่อ โดยเริ่มจากการสร้างความปลอดภัยในการทำงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2567 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือร่วมกับภาคี จัดงานเสวนานโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาจากภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคสื่อมวลชน ประกอบไปด้วย องค์กรสิทธิ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องเพศและความเท่าเทียม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ เพศสถานะ เพศวิถี และความหลากหลายทางเพศ ตัวแทนจากวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ
ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศในการทำงานถือเป็นปัญหาระดับโลก สิ่งที่องค์กรมักลืมและควรตระหนักคือต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าการคุกคามทางเพศในองค์กรนั้นคือประเด็นเดียวกับการคุกคามทางเพศโดยทั่วไป คำสำคัญคือ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (sexual exploitation) โดยใช้อำนาจในองค์กร การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศทำให้เกิดความชัดเจนว่าการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อไม่ใช่การคุกคามทางเพศทั่วไป แต่มีราคาที่ทุกคนในองค์กรต้องจ่าย มีการได้และเสียประโยชน์ ผ่านการใช้เรื่องเพศสร้างประโยชน์แอบแฝง และไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะคู่กรณี แต่ทุกคนในองค์กรได้รับผลกระทบ ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในองค์กรและรวมทั่งสังคมได้รับผลกระทบทั่วกัน
"สื่อจะเรียกร้องความเท่าเทียมให้คนในสังคมได้อย่างไร ถ้าองค์กรยังขาดธรรมาภิบาลและมีการคุกคามทางเพศอยู่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทรงพลังในด้านผลกระทบ สื่อจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานในวิชาชีพสื่อ" ดร.ชเนตตี ย้ำ
ด้าน อุษา มีชารี อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าองค์กรสื่อควรตระหนักเรื่องเพศและการคุกคามทางเพศ เพราะคนทำข่าวเรียกร้องสิทธิให้คนอื่นแต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง สื่อต้องผลักดันประเด็นนี้เพื่อคืนกลับสิทธิและเสรีภาพให้กับสื่อเอง เพื่อนักข่าวสามารถเรียกร้องสิทธิให้กับสังคมต่อไป
สุเมธ สมคะเน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าวว่าหากพี่น้องผู้สื่อข่าวถูกคุกคามทางเพศ หรือมีปัญหาเรื่องนี้ ทุกคนสามารถเดินมาหาหรือหลังไมค์มายังสมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยหรือสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย เรายินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทุกคน เราจะเป็นตัวกลางและช่องทางประสานงานทางด้านกฎหมายให้พี่น้องสื่อ และเคยพูดคุยในประเด็นนี้กับทางสมาคมข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอยากจัดทำโครงการอบรมการทำข่าวอย่างปลอดภัยสำหรับนักข่าวผู้หญิง โดยมีการสอนวิธีป้องกันหลายระดับให้กับนักข่าวผู้หญิงแต่ตอนนี้ยังขาดแหล่งทุน
สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้ เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ได้รับการร่วมมือระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO) ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม เสริมสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงานสื่อผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงกลไกและนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ