กองทุนสื่อฯ ได้ข้อยุติประเด็นอำนาจการพิจารณาทุน ก.พ.ร. ชี้เป็นอำนาจอนุกรรมการบริหารโดยเฉพาะ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้มีประเด็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความข้อกฎหมาย ในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจการพิจารณาทุน โดยประชุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่งได้ยกประเด็นนำเสนอต่อที่ประชุมว่า กรรมการควรมีอำนาจในการพิจารณาทุนหรือให้ความเห็นชอบต่อการพิจารณาอนุมัติของคณะอนุกรรมการบริหารหรือไม่เพียงใด มิใช่เพียงการรับทราบตามที่เคยปฏิบัติมา ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งประเด็นความเห็นทางกฎหมายดังกล่าว เข้าหารือต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ทำหนังสือหารือต่อสำนักงานกฤษฎีกาและได้รับการชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลองค์การมหาชน จึงเห็นควรให้ส่งเรื่องไปยัง ก.พ.ร.
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ก.พ.ร.ได้ตอบข้อหารือแล้ว โดยมีข้อความดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจในการออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงิน
แก่โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามบทบัญญัติในมาตรา 21 (7) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนฯ จึงไม่มีอำนาจกระทำการใดอันมีผลเป็นการพิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมฯ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามมาตรา 23 วรรคสอง (2) แต่อาจให้ข้อสังเกตในกรณีที่โครงการหรือกิจกรรมฯ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯไม่เป็นไปตามข้อบังคับที่กำหนดได้
2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ ไปทำหน้าที่เป็นอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการเพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด มิใช่กรณีผลประโยชน์ขัดกันในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับกองทุนอันเป็นลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการกองทุนฯ และคณะอนุกรรมการทุกคณะ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.พ.ร. มีข้อสังเกตว่า การกำหนดองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการฯ ควรคำนึงถึงความเป็นอิสระในการพิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมฯ ซึ่งเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
ด้านผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อรับทราบและพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าจะคงไว้ตามมติเดิม หรือจะพิจารณาใหม่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่แม้ ก.พ.ร.จะชี้ว่า การทำหน้าที่เป็นอนุกรรมการกลั่นกรองไม่เข้าข่ายกรณีเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่การที่ผู้ทรงคุณวุฒิลงไปทำหน้าที่กลั่นกรองเองที่ประชุมอาจต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสม
ผู้จัดการกองทุนกล่าวด้วยว่า กระบวนการต่อจากนี้สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเร่งนำเสนอภาระงานของกองทุนที่ค้างอยู่ รายงานให้ท่านประธานกรรมการกองทุนคนใหม่ และรองประธานกรรมการคนใหม่ทราบ และเสนอให้มีการจัดประชุมให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ รวมถึงเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง จากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลทำให้กระบวนการพิจารณาทุนของปี 2567 ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความล่าช้า สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะเร่งดำเนินการกระบวนการพิจารณา และต้องขออภัยผู้ที่ยื่นขอรับข้อเสนอโครงการเข้ามาจำนวน 1,137 โครงการ และเชื่อว่ากระบวนการหลังจากนี้จะทำให้สามารถพิจารณาและประกาศทุนได้โดยเร็ว