กรมโยธาธิการและผังเมือง ตอบรับข้อเสนอสภาผู้บริโภค แก้กฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ไม่ต้องใช้วิศวกรโยธาตรวจสอบรับรองความมั่นคงแข็งแรง ช่วยลดอุปสรรคติดตั้ง ลดค่าไฟฟ้า และประชาชนเข้าถึงความยั่งยืนด้านพลังงานได้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 สภาผู้บริโภคได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 65 (พ.ศ.2558) ให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 20 ตารางเมตร อนุโลมให้ไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่รับรองโดยวิศวกรโยธา เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปได้มากขึ้นนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือตอบกลับสภาผู้บริโภคว่าได้ยกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ … (พ.ศ. …) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อปรับปรุงกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) และยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน หรือโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) ของอาคารที่มีน้ำหนักรวมในบริเวณใดบริเวณหนึ่งไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตรไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร ไม่ต้องยื่นขออนุญาต และไม่ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา โดยที่อาคารยังมีความมั่นคงแข็งแรงเช่นเดิมและลดขั้นตอนการปฏิบัติที่อาจสร้างภาระเกินความจำเป็นให้แก่ผู้บริโภค ปัจจุบันร่างดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมอาคาร และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย
“การทำให้ประชาชนเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปได้มากขึ้นจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้อย่างมากและยังช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดไปจากโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถติดตั้งซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตรโดยไม่ต้องใช้วิศวกรโยธารับรอง ไม่เพียงช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการติดตั้งอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น แต่ยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้โดยตรง รวมถึงทำให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงานอีกด้วย” ประธานสภาผู้บริโภค ระบุ
นางสาวบุญยืน กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมากฎกระทรวงฉบับที่ 65 (พ.ศ.2558) แม้จะมีการปลดล็อกให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร แต่มีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชนอยู่ คือ การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ต้องมีผลตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่รับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายและต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพียง 8 - 10 แผง ใช้พื้นที่ติดตั้งไม่ถึง 50 ตารางเมตร และน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่หากต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 65 (พ.ศ. 2558) ให้ครบถ้วน ต้องมีวิศวกรโยธามาตรวจสอบและรับรองความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวม 10,000 บาท จึงทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนสร้างภาระให้ผู้บริโภคเกินสมควรและอาจล้มเลิกความคิดที่จะติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงนั่นเอง
รูปปกจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร