กลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ ส่งจดหมายเปิดผนึก จี้ทบทวนการอนุญาตวัคซีนโควิด mRNA ด้าน อย.ย้ำปลอดภัย ผ่านการประเมินคุณภาพ มีการติดตามประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า กลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊ก จดหมายเปิดผนึกถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช) เรื่อง ขอให้ทบทวนการอนุญาตให้ใช้วัคซีนโควิด19 ชนิด mRNA vaccine โดยระบุว่า
ตามที่เลขาธิการ อย.ให้ข่าวเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567พาดหัวข่าว “อย. ย้ำ วัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัย ผ่านการประเมินคุณภาพ” นั้นเป็นการให้ข้อมูลกับสังคมโดยมิได้คำนึงข้อมูลหลักฐานทางวิชาการใหม่ที่มีการวิจัยเพิ่มขึ้น ยังคงยึดโยงกับข้อมูลเดิมเมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคโควิดใหม่ๆ ทั้งที่ปัจจุบัน การระบาดยุติลงแล้ว เชื้อมีการกลายพันธุ์จนลดความรุนแรงลงมากแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติแล้ว การอ้างเหตุผลความจำเป็นที่จะ ไม่พิจารณาความปลอดภัยของวัคซีน โดยไม่พิจารณาผลกระทบในระยะยาวจึงเป็นคำอ้างที่ฟังไม่ขึ้น การที่ท่านอ้างว่า มีการดูข้อมูลคุณภาพและความปลอดภัยนั้น เป็นการใช้ข้อมูลเมื่อสามปีก่อนใช่หรือไม่ เมื่อมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาใหม่ ได้มีการทบทวน นำข้อมูลใหม่เหล่านั้นมาพิจารณาเพิ่มเติมหรือไม่ หรือเป็นการพิจารณาที่ดูเพียงครั้งเดียวแล้วให้ไฟเขียวถาวรกับบริษัทยาแบบไม่มีเงื่อนไขหรือไม่
โดยในจดหมายของกลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ ยังระบุว่า ปัจจุบันนี้มีข้อมูลที่เผยแพร่ในสาธารณะยังมีคำถามถึงบริษัทเกี่ยวกับ การปนเปื้อนของสารพันธุกรรมที่มิใช่ mRNA ของสไปก์โปรตีน นอกจากนี้ในเอกสารกำกับยาที่ผ่านความเห็นชอบของ อ.ย. ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
บริษัทไม่ได้ทำการศึกษาว่า วัคซีนดังกล่าวก่อให้เกิดมะเร็งได้ไหม หรือทำให้เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ไหม ทางกลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ ได้นำเสนอข้อมูลและผลการวิจัยต่างๆในการประชุม คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานของท่านร่วมรับฟังข้อมูลด้วย การที่ทางอย.จะปฏิเสธไม่รับรู้ข้อมูลหลักฐานใหม่เหล่านี้ จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน mRNA อาจเป็นการกระทำที่ประมาทเลินเล่อได้
ทางกลุ่มคนไทยพิทักษ์สิทธิ์ไม่ต้องการเห็นอย.ต้องมารับผิดชอบในการกระทำดังกล่าวจึงจะนำเอกสารหลักฐานทั้งหมดเกี่ยวกับข้อสงสัยในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน mRNA ไปมอบให้กับเลขาธิการ อย.เพื่อขอให้ท่านทำการทบทวนการอนุญาตวัคซีนดังกล่าวโดยเร็ว ทั้งนี้มีผู้ป่วยและญาติใกล้ชิดของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนเริ่มตั้งข้อสงสัยในกระบวนการอนุญาต อันอาจจะนำมาซึ่งการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไป
ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรปิดบังได้ การวิ่งหนีความจริงเสมือนการวิ่งหนีเงาตนเอง ที่ไม่มีทางหนีพ้น
"เงาดังกล่าวจะหายไปก็ต่อเมื่อมีความโปร่งใสให้สังคมตรวจสอบได้"
อย.ย้ำ วัคซีนโควิด ปลอดภัย ผ่านการประเมินคุณภาพ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อสังเกตจากกลุ่มบุคคลในเรื่องการอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของโรค แต่เพื่อให้ประชาชนมีวัคซีนใช้โดยเร็วและทันการณ์ อย. จึงกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนยาแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยกำหนดแนวทางให้บริษัทที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนแสดงข้อมูลที่เพียงพอในการสนับสนุนถึงคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีน รวมทั้งต้องติดตามความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ดังนั้น แม้จะใช้เวลาในการประเมินที่สั้นลง อย. ก็ยังคงให้ความสำคัญกับหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผลของวัคซีน
ในประเด็นการอนุญาตให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งจาก อย. และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ที่อ้างอิงตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกในด้านความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิผล พิจารณาผลการศึกษาในสัตว์ทดลองและความปลอดภัยในคน รวมถึงการติดตามผลข้างเคียงและการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลในขณะนั้นเพียงพอต่อการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในผู้สูงอายุและเด็กได้ สำหรับในสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร เนื่องจากประเด็นด้านจริยธรรมการวิจัย จึงใช้ข้อมูลอ้างอิงจากการศึกษาในสัตว์ทดลองเพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาตัดสินใจใช้ยา ในด้านความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กที่ได้รับวัคซีนประมาณ 1.25 รายในล้านโดส ซึ่งต่ำกว่าในประชากรเด็กปกติ และต่ำกว่าผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 จึงไม่แตกต่างจากที่พบโดยทั่วไป
“ อย. มีการควบคุมคุณภาพวัคซีนของประเทศไทย โดยก่อนขึ้นทะเบียนมีการประเมินทั้งข้อมูลด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีนแล้ว ภายหลังการขึ้นทะเบียนก็ยังคงมีการตรวจวิเคราะห์เพื่อรับรองรุ่นการผลิตก่อนออกจำหน่ายของวัคซีนทุกล็อต เพื่อควบคุมคุณภาพวัคซีนก่อนที่วัคซีนจะถึงผู้บริโภค รวมถึงการติดตามอาการไม่พึงประสงค์และความปลอดภัยภายหลังการใช้วัคซีน จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าวัคซีนที่ อย. อนุญาตมีความปลอดภัย มีคุณภาพ และประสิทธิผลที่จะช่วยลดความสูญเสียจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้” นพ.ณรงค์ กล่าว