สภาผู้บริโภค จับมือ สสส. ผลักดันให้เกิดมาตรฐานระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย พร้อมดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อดูแลคุ้มครองเด็กทุกคนให้ได้รับความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนของเด็กนักเรียน ปัจจุบันสภาผู้บริโภคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม โดยได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนา ‘ต้นแบบโรงเรียนศูนย์เรียนรู้การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย’ ในโรงเรียนจำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดพะเยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสงขลา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำให้เกิดมาตรฐานในการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ พร้อมสำหรับการเดินทางของนักเรียนทุกคน และเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อขยายผลการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ
“ปัจจุบันคาดว่ามีรถรับส่งนักเรียนมากกว่า 45,000 คัน วิ่งรับส่งบุตรหลานโดยไม่มีใบอนุญาตอยู่ทั่วประเทศ สะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนในปัจจุบัน ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้เข้าเสนอนโยบายการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทั่งข้อมูลได้ถูกนำเสนอจนเกิดเป็นมติ ครม. โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน แต่น่าตกใจที่เพียงเดือนเดียวของมกราคม 2567 กลับมีอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากถึง 6 ครั้ง” นายคงศักดิ์ ระบุ
ในฐานะที่สภาผู้บริโภคเป็นผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย จึงได้เสนอเป็นคนกลางพร้อมร่วมกับทุกหน่วยงานในการบูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนหลักเกณฑ์การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยทั้งระบบในทุกขั้นตอน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างระบบการเดินทางที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนทุกคน
ด้าน นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานโครงการแผนงานร่วมทุนสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคฯ ให้ความเห็นว่า จากการรายงานข่าวพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมาจากความประมาทของพนักงานขับรถรับส่งนักเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้วสาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหาเชิงระบบที่มีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น การขาดการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบให้ถึงต้นตอของปัญหาอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนอย่างละเอียดและรอบคอบเพื่อที่จะเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด นอกจากนี้ต้องพัฒนานโยบายเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเชิงพื้นที่ อาทิ โรงเรียน ท้องถิ่น หรือผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียน โดยทำให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักร่วมกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องชีวิตของเด็กนักเรียนให้มีความปลอดภัย
“การผลักดันให้เกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยอาจต้องนำบทเรียนจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียนได้หันมาทบทวน เกิดความตื่นตัวมากขึ้น และวางเป้าหมายร่วมกันว่าต่อจากนี้การผลักดันเรื่องความปลอดภัยไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องชีวิตเด็กนักเรียนจากอุบัติเหตุเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อทำให้สังคมไทยมีความหวังที่จะเห็นเด็กที่เกิดมาไม่ว่าจะในยุคใดหรือสมัยใดมีชีวิตอยู่รอด ได้เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อไป” นายศรีสุวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ ระบุว่า สสส. ได้ร่วมมือกับสภาผู้บริโภคภายใต้โครงการแผนงานร่วมทุนฯ ข้างต้น ที่พร้อมจะประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับประเทศในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยขึ้นให้ได้ในประเทศไทย รวมถึงการทำให้เกิดการชดเชยเยียวความเสียหายที่เกิดขึ้นให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมร่วมด้วย
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า การมีบริการรถรับส่งนักเรียนเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากช่วยลดจำนวนของเด็กนักเรียนที่จะต้องขับขี่รถจักรยานยนต์มาเรียนด้วยตัวเอง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำและต่อเนื่อง เพราะระบบรถรับส่งนักเรียนโดยรวมยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เดิมเคยมีความคาดหวังว่าการบริการรถรับส่งนักเรียนควรจะต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งการปกครองส่วนท้องถิ่น ความร่วมมือระหว่างตำรวจขนส่ง และโรงเรียน แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้และทำให้ปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นพ.อนุชา ได้ยกตัวอย่างระบบรถนักเรียนในจังหวัดเชียงรายที่มีการวางระบบของแต่ละภาคส่วนที่ควรจะรวมตัวกันเพื่อทำให้รถรับส่งนักเรียนมีประสิทธิภาพ โดย มีการรวมผู้ประกอบการที่รับส่งนักเรียนหารือร่วมกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงราย นักวิชาการ เพื่อวางระบบรถรับส่งนักเรียนภายในจังหวัด โดยที่อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์จะเข้ามาช่วยคัดเลือกรถที่รับส่งนักเรียนที่เข้าเกณฑ์รถรับส่งนักเรียนเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างและยังมีการวิเคราะห์ออกมาเป็นเกณฑ์สำหรับให้ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนในจังหวัดนำมาปรับแก้ไขเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้รถเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญในการทำให้กลไกความปลอดภัยมีความชัดเจนมากขึ้น โดยที่โรงเรียนจะมีข้อมูลของเด็กนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่งนักเรียนแต่ละคันเพื่อคอยตรวจสอบว่าเมื่อรถรับส่งนักเรียนมาส่งเด็กนักเรียนแล้ว เด็กทุกคนลงจากรถครบหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลงลืมเด็กไว้ในรถที่อาจนำมาสู่ความเสียหายถึงชีวิตได้
“หากเปรียบเทียบกับรถโรงเรียนที่เกิดอุบัติเหตุจะเห็นว่า รถเหล่านั้นไม่มีใครเคยไปดูแล ปล่อยให้รับส่งกันไปตามสภาพ ไม่มีการรวมตัวกันเพื่อวางระบบ ทั้งนี้ไม่ว่าทีมผู้บริโภค ทีมคุ้มครองผู้บริโภค หรือคุณครูหรือทีมขนส่งที่มีหน้าที่สนับสนุนให้มีสิ่งนี้ จะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือที่จะช่วยกันดันให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย” นพ.อนุชา กล่าวเสริม