‘เศรษฐา’ กล่าวถ้อยแถลงในโอกาสเยือน ‘ศรีลังกา’ มั่นใจและเชื่อมั่นศักยภาทพของ ‘ศรีลังกา’ และการขนบริษัทชั้นนำของไทย 20 บริษัทมาร่วม ชี้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่โดดเด่น สามารถร่วมกันผลักดันเดินหน้าได้ เปรียบการเดินหน้าร่วมกันเหมือน ‘ตีเหล็กตอนร้อน’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโคลัมโบ ซึ่งช้ากว่าไทย 1.30 ชั่วโมง) ณ The Balmoral โรงแรม The Kingsbury นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในงาน Sri Lanka – Thailand Business Networking โดยมีนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เข้าร่วมงานด้วย
@เชื่อมั่น มั่นใจ ศักยภาพ ‘ศรีลังกา’
นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นว่า เชื่อมั่นการเดินหน้าประเทศของศรีลังกา มั่นใจว่าการที่บริษัทชั้นนำของไทยกว่า 20 แห่งร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ และการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกาสะท้อนถึงความรู้สึกเชื่อมั่นในศักยภาพระหว่างกันเช่นกัน
ในด้านการค้าระหว่างไทยและศรีลังกาเติบโตร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 และส่งออกจากศรีลังกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 และในภาคการผลิต ที่การแปรรูปอาหารทะเลของศรีลังกามีความโดดเด่น ซึ่งศักยภาพความร่วมมือระหว่างบริษัทจากทั้งสองประเทศสามารถเดินหน้าอุตสาหกรรมนี้สู่ตลาดทั่วโลกได้
@ปลื้ม เที่ยวบินตรง ไทย-ศรีลังกา เปิด 31 มี.ค.67
ในขณะที่ สินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ของไทยเองก็สามารถมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมการบริการที่กำลังเติบโตของศรีลังกา ที่รวมไปถึงการพัฒนาทักษะ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและการโรงแรมระหว่างกัน และในด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นฐานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชน โดยเฉพาะที่การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567
ด้านการลงทุน มีบริษัทไทยจำนวนมากดำเนินธุรกิจในศรีลังกา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิต และพลังงาน ซึ่ง นายกรัฐมนตรียืนยันว่า สนับสนุนให้บริษัทอื่นๆ ของไทย ใช้ประโยชน์จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเติบโตของศรีลังกา และความได้เปรียบทางภาษีในตลาดต่างประเทศ และการเชื่อมโยงทางทะเล ศรีลังกาสามารถเป็นพันธมิตรสำคัญของไทย ที่มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยโครงการ Landbridge ของไทยที่จะเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และลดเวลาการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
และด้วยสุภาษิตที่ว่า ‘จงตีเหล็กขณะยังร้อน’ นายเศรษฐาพร้อมสนับสนุนธุรกิจจากทั้งสองฝ่ายให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก FTA ที่ลงนามในวันนี้ และอวยพรให้งานในวันนี้ประสบความสำเร็จ