ที่ประชุมจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ปี 2568 แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เห็นชอบใช้เงิน 1,802 ล้านบาท ดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริต มี 'อนุทิน ชาญวีรกูล' เป็นประธานการประชุม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 09.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คณะที่ 4.1 แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ครั้งที่ 1/2567 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี
ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าภาพหลักได้จัดทำแนวทางการจัดทำข้อเสนองบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยศึกษาวิเคราะห์ ทบทวน สถานการณ์การทุจริต ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตลอดจนงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมาประมวลผลเพื่อกำหนดเป็นแนวทางการจัดทำข้อเสนองบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นกรอบชี้นำสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งมีหน่วยงานเสนอคำของบประมาณจำนวน 57 หน่วยงาน รวม 76 โครงการ งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1,846,936,300 บาท
ที่ประชุมเห็นชอบจำนวน 56 หน่วยงาน รวม 74 โครงการ งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1,802,062,900 บาท จำแนกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 ปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสำนึกให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต จำนวน 45 หน่วยงาน รวม 53 โครงการ งบประมาณ 1,116,150,400 บาท
แนวทางที่ 2 ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ จำนวน 15 หน่วยงาน รวม 19 โครงการ งบประมาณ 395,436,600 บาท
แนวทางที่ 3 ปราบปรามการทุจริต จำนวน 4 หน่วยงาน รวม 5 โครงการ งบประมาณ 290,475,900 บาท
ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้เน้นย้ำให้สำนักงาน ป.ป.ช. สร้างความเข้าใจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความมั่นใจในการดำเนินงาน 'ปราบปรามคนชั่ว ปกป้องคนดี' โดยอาจมีบทลงโทษกับคนที่มีเจตนาไม่ดี รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตและดำเนินการตามที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้ให้ข้อเสนอแนะให้กับทุกประเทศในการประเมิน ปี 2566
“ควรเสริมสร้างให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง รวมถึงส่งเสริมระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม สร้างความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสในระบบศาลยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการนิติบัญญัติ และระบบการบริหารจัดการตลอดจนเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้ สร้างกลไกส่งเสริมความซื่อตรงและกลไกการตรวจสอบ การสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินคดีกับการทุจริตคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายหรือมีผลกระทบในวงกว้าง” นายอนุทิน กล่าว
นอกจากนี้ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (นายนิวัติไชย เกษมมงคล) รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และภาคเอกชน นำมาตรการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ หากมาตรการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จะส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม