นิด้าโพล เผยผลสำรวจ 'วิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต' ชี้ ต้องแก้วิกฤตเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน สัดส่วนที่อยากให้ 'เดินหน้า-หยุด' นโยบายแจกเงินดิจิทัล มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 ม.ค. 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.51 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ร้อยละ 20.15 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่เร่งด่วน
ร้อยละ 10.08 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ไม่น่าวิตกกังวลใดๆ ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับการเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจของประชาชนในขณะนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.72 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง
ร้อยละ 20.45 ระบุว่า เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในระดับที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 10.92 ระบุว่า ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจใด ๆ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว รองลงมา ร้อยละ 33.66 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ 5.88 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ และร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหากนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.85 ระบุว่า ไม่โกรธเลย รองลงมา ร้อยละ 12.37 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ ร้อยละ 9.39 ระบุว่า โกรธมาก ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ และร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ