ป.ป.ช.จัดประชุมร่วม ขรก.ปักหมุดพื้นที่เสี่ยงทุจริตใน กทม.ตั้งเป้าให้เป็น Smart Capital BANGKOK ย้ำชัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องเล็งเห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องใกล้ตัว หวังเพิ่มค่า CPI
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต (สสร.) จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการข้าราชการ พนักงานของรัฐเพื่อปักหมุดแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ภายใต้โครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (โครงการต่อเนื่องขยายผล) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน โดยมี นางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต กล่าวเปิดกิจกรรม และนางสาวเต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ &คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลประเด็นการทุจริตสำหรับการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่มีการจัดเรียง ปรับปรุง และพัฒนาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ให้แก่ภารกิจการป้องกันการทุจริตในระดับพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงในระดับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดถึงภารกิจการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและปลุกจิตสำนึกในการต้านทุจริตให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการป้องกันการทุจริต จากส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้นกว่า 120 คน
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มีการทบทวนข้อมูลหมุดความเสี่ยงต่อการทุจริตและข้อมูลแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2563 – 2566 ในพื้นที่ และการชี้แจงแนวทางการยกระดับการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต สู่ระบบแผนที่ต่อต้านทุจริตประเทศไทย (Thailand Mapping of Anti-Corruption: TMAC) โดย รองศาสตราจารย์ ดร. มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ.ป.ป.ช. โดยมุ่งเน้นการร่วมสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็น Smart Capital BANGKOK สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้เล็งเห็นความเสี่ยงการทุจริตว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และส่งผลกระทบต่องบประมาณที่นำมาพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งส่งผลกระทบต่อค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย(Corruption Perception Index: CPI)
จากนั้น มีการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลหมุดความเสี่ยงต่อการทุจริตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามประเภทความเสี่ยงการทุจริตด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1) ด้านการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียน และภารกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 2) ด้านภารกิจของงานโยธา 3) ด้านภารกิจของงานเทศกิจ 4) ด้านมนุษย์และสังคมและ 5) ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การบูรณาการความร่วมมือกันของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคีเครือข่ายภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาชน และหน่วยงาน ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกันเฝ้าระวังความเสี่ยงการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันนักเรียน การจัดซื้อนมโรงเรียน สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร การขอใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ การบริหารงบลงทุน เพื่อปรับปรุงถนนตรอกซอยในพื้นที่การนำระบบสารสนเทศเข้ามาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน (e-services) การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับการวางผังเมือง การปฏิบัติงานของหน่วยงานเทศกิจในพื้นที่ซึ่งต้องคำนึงถึงทั้งกระบวนการทางรัฐศาสตร์ และกระบวนการทางกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการเปรียบเทียบปรับของเจ้าหน้าที่ แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการปรับเป็นพินัยจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำการค้าอย่างผิดกฎหมาย หรือเช่าที่พักอาศัยจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งประเด็นความเหมาะสมเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณจากการแปรญัตติโดยฝ่ายบริหาร เป็นต้น