‘เลขาอีอีซี’ เผยคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนมีมติให้ไปถกกับ ‘กรมโยธาฯ’ ขอใช้ผังเมืองสีเหลืองในการตั้งนิคมอุตสาหกรรม หลังรับฟังความเห็นแล้วถูกขยับให้ใช้ผังสีเขียว ชี้กม.ผังเมืองล็อกไม่ให้ทำบนผังสีเขียวได้ พร้อมหารือ ‘กระทรวงทรัพย์ฯ’ ใช้ข้อมูลทุติยภูมิแทน ร่นเวลาทำ EIA เร็วขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 พิจารณากันในหลายประเด็น
ประเด็นแรก พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ สกพอ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญ ๆ อาทิ ด้านพื้นที่การให้สิทธิประโยชน์สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2560 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 35 เขต แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 28 แห่ง และพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง
โดยพื้นที่นอกเหนือเขตส่งเสริมดังกล่าว จะเป็นไปตามกฎหมายของบีโอไอและ กนอ. ด้านผู้รับสิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องเป็นโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมลงทุน และไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ร่วมกับโครงการจากบีโอไอมาก่อน
กรณีโครงการที่เคยได้รับส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ สกพอ. จะพิจารณาเฉพาะสิทธินอกเหนือ เช่น สิทธิประโยชน์ถือครองห้องชุด สิทธิประโยชน์ ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น ด้านการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย สกพอ. ได้มีระบบบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC One Stop Service) รองรับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต รับแจ้งจดทะเบียนตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าขุดดินถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายคนเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องร่วมกับบีโอไอ และกนอ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน โดยสิทธิประโยชน์ของสกพอ. จะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 นี้
เลขาธิการอีอีซีระบุว่า ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้มอบหมายให้ สกพอ. บีโอไอ และกนอ. และหน่วยงานที่เกียวข้อง มีคณะทำงานร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
@หารือกรมโยธาฯ ขอผังสีเหลืองทำนิคมอุตฯได้
ประเด็นต่อมาที่หารือกัน คือ ปัญหาการหาพื้นที่ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งตามกฎหมายผังเมืองจะต้องตั้งอยู่บนผังเมืองสีม่วงเท่านั้น ซึ่งมีการหารือกันว่า ผังเมืองสีเหลือง (ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยต่ำ สร้างได้เฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว, ทาวน์เฮ้าส์ และอาคารชุดขนาดเล็ก) ควรแบ่งไปสร้างโรงงานได้ ซึ่งในกฎหมายอีอีซีได้อนุญาตไว้แล้ว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะต้องออกผังภาคให้สอดคล้องกับที่อีอีซีกำหนด แต่มีประเด็นเกิดขึ้น เนื่องจากในการรับฟังความเห็นไปกำหนดให้ก่อสร้างบนผังสีเขียว (สีพื้นที่เพื่อการชนบทและเกษตรกรรม) ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม จึงมอบหมายให้อีอีซีไปคุยให้ชัวร์กับกรมโยธาธิการและผังเมือง
และเมื่อได้ที่ดินมาแล้ว จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะต้องเก็บข้อมูลปฐมภูมิที่เกี่ยวกับอากาศและสิ่งแวดล้อมและจะใช้เวลา 1 ปี จึงได้มอบให้อีอีซีคุยกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้ข้อมูลทุติยภูมิแทน อาจจะลดเวลาจาก 1 ปี เหลือน้อยลงกว่านั้นได้
แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ที่มา: ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562
ที่มาภาพปก: กรมโยธาธิการและผังเมือง