กสม.จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล 14 ธ.ค. 66 นี้ที่ TIJ ถ.แจ้งวัฒนะ เตรียมงานสัมมนา-มอบรางวัลด้านสิทธิ์แก่บุคคลและองค์กรจำนวน 9 รางวัล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กำหนดจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2566 ในหัวข้อ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงและร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ครบรอบ 75 ปี และเพื่อแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในการส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดจัดงาน
ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลา 08.30 – 14.30 น. ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
ในงานจะมีการเสวนาหัวข้อ “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” โดยวิทยากรประกอบด้วย นายพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย นายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ นายสมพงค์ สระแก้ว
ผู้อำนวยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน และนายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ
นอกจากนี้ยังจะมีการมอบรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565 โดยมีบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 9 รางวัล ดังนี้
(1) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ที่มีผลการดำเนินงานสำคัญเกี่ยวกับ
การสื่อสารรณรงค์ถึงหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก
(2) นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการ รายการข่าว 3 มิติ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และการทำหน้าที่เป็นสื่อที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวของประชาชน
(3) นายเดโช ไชยทัพ นายกสมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ ผู้ขับเคลื่อนงานด้านประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ทำงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 30 ปี
(4) รองศาสตราจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บุกเบิกการทำงานรวมกลุ่มคนไร้บ้านตั้งแต่ปี 2544 เมื่อครั้งยังทำงานที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
(5) นางสาวรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (N-Wave) ผู้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้นำศาสนา คณะกรรมการอิสลาม และหน่วยงานภาครัฐในการยุติความรุนแรงในครอบครัวในจังหวัดชายแดนใต้
(6) นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาชุมชน/เครือข่าย ผู้ผลักดันในการสร้างเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 5 จังหวัดอันดามัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำมาหากินทางทะเลของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล
(7) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่มีภารกิจพัฒนาฐานข้อมูลด้านสังคมและวัฒนธรรม
(8) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) องค์กรชุมชนที่ดำเนินงานในพื้นที่ที่มีความยากลำบาก เผชิญกับแรงเสียดทานของสังคมใหญ่ ที่มีอคติ ตัดสิน ตีตรา เลือกปฏิบัติต่อพนักงานบริการและพลเมืองหลากหลายเพศ
(9) นางสาวธนานุช สงวนศักดิ์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ผลิตสารคดีและสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง ผลงานสารคดี/สารคดีเชิงข่าวที่ผลิตขึ้นนั้นเป็นการสืบเสาะ เจาะลึก ค้นหาความจริงที่ต้องลงพื้นที่ เกาะติดสถานการณ์เพื่อให้เห็นรายละเอียดของชีวิตที่นำเสนอ
ทั้งนี้ กรอบและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก ประกอบไปด้วย
1. เป็นบุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้ (1) มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีความมุ่งมั่นในการทำงาน แม้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความยากลำบาก โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (2) การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นเป็นรูปธรรม อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อชุมชน จนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุคคลและองค์กรอื่น ๆ ในสังคม (3) การดำเนินงานที่ส่งผลต่อภาพรวมของสังคมและสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง (4) การดำเนินงานด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. เป็นบุคคลหรือองค์กรที่ไม่เคยมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน
3. เป็นบุคคลหรือองค์กรที่ไม่เคยได้รับรางวัลนี้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาก่อน