‘มนพร’ ลงพื้นที่เช็กอัพสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 5 ‘บึงกาฬ-ปากซัน’ ระยะทางรวม 16.18 กม. พบคืบแล้ว 80% แล้วเสร็จในปี 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ – ปากซัน) เชื่อมไทย กับ แขวง บอริคำไซ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการยกระดับพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การค้าชายแดน เชื่อมกับลาว เวียดนาม จีน เริ่มดำำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2563 งบประมาณก่อสร้าง กว่า 3,600 ล้านบาท เป็นการลงทุนร่วมรัฐบาลไป กับ รัฐบาลลาว
ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 % ระยะทางทั้งโครงการมีระยะทางรวม 16.18 ก.ม. แยกเป็น งานก่อสร้างฝั่งไทย 12.13 ก.ม. และฝั่งลาว 3.18 ก.ม. คาดแล้วเสร็จในปี 2567
นางมนพรเปิดเผยว่า ในฐานะเป็นตัวแทนกระทรวงคมนาคม ได้มีโอกาสลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ ร่วมกับ ผู้แทนในพื้นที่อีสาน และ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสกลนคร บึงกาฬ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 5 พร้อมรับทราบปัญหา ถือว่าการก่อสร้างเป็นไปตามระยะเวลากำหนด จากข้อมูลมั่นใจแล้วเสร็จสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปี 2567 อย่างแน่นอน
และภายหลังเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 5 บึงกาฬ กับเมืองปากซัน แขวง บอริคำไซ สปป.ลาว รมช.คมนาคมกล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงคมนาคม รวมถึงผู้แทนในพื้นที่ จ.บึงกาฬ รวมถึง จังหวัดชายแดนอีสาน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ไม่ได้มองแค่เรื่องเกิดสะพานไทยลาวแห่งใหม่ ควบคู่กัน จะต้องขับเคลื่อนแก้ปัญหา การคมนาคมขนส่งที่เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์ ด้านเศรษฐกิจการค้า คมนาคม ขนส่ง การท่องเที่ยว เชื่อมโยงชายแดนอีสาน ไปยัง สปป.ลาว ถึง เวียดนาม และจีน โดยเฉพาะปัญหาเส้นทางคมนาคม ยังมีอีกหลายช่วง ที่แขวงทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อพัฒนาเส้นทางหลักเชื่อมระหว่าง จ.หนองคาย มายัง จ.บึงกาฬ ไปถึง จ.นครพนม และเชื่อม จ.สกลนคร จะต้องพัฒนาเป็นถนน 4 เลน ทั้งหมด เพื่อยกระดับการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากหลายช่วงยังเป็นคอขวด การจราจรแออัด เสี่ยงอุบัติเหตุ กระทบการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้งสองฝั่ง โครงการมีระยะทาง 16.18 กม. วงเงิน 4,010.067 ล้านบาท ฝ่ายไทยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 2,630 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 77 ล้านบาท) ฝั่ง สปป.ลาว โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 1,380.067 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท/ค่าที่ปรึกษา 44 ล้านบาท/ค่าบริหารจัดการ 15 ล้านบาท/ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 63 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.067 ล้านบาท)
แนวเส้นทางจะสร้างอยู่บนพื้นที่ตำบลวิศิษฐ์ ตำบลไคสี และตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ อยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว โดยรูปแบบการก่อสร้างจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง 1 แห่ง ความยาว 1.35 กม. ขนาด 2 ช่องจราจร เชื่อมโยงระหว่างฝั่งไทยกับลาว พร้อมถนนตัดใหม่เป็นลักษณะถนนเลี่ยงเมือง ขนาด 4 ช่องจราจร ในฝั่งไทย เพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวงสาย 222 (บึงกาฬ-พังโคน) จาก จ.หนองคาย ไปยัง จ.นครพนม และ จ.สกลนคร ส่วนฝั่งลาวจะเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.86 กม.[ต้องการอ้างอิง]
ทั้งโครงการมีระยะทางรวม 16.18 กม. แยกเป็น งานก่อสร้างฝั่งไทย 12.13 กม. และฝั่งลาว 3.18 กม. โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่ฝั่งไทย อยู่ที่จุดตัดทางหลวงสาย 222 กม.ที่ 123+430 ใกล้กับที่ดินกรมทางหลวง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทสาย 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง แล้วมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิม ตัดทางหลวงชนบทสาย 3013 ที่บ้านห้วยดอกไม้ ใกล้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยดอกไม้ แล้วมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิม ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านด่านพรมแดนฝั่งไทย บริเวณทิศตะวันออกของหนองกุดจับ ก่อนยกระดับข้ามทางหลวงสาย 212 กม.ที่ 125+925 ที่บ้านดอนยม อยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง ประมาณ 200 เมตร จุดที่ข้ามแม่น้ำโขงจะผ่าน ต.บึงกาฬ ต.วิศิษฐ์ และ ต.ไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จะมีเวนคืนที่ดิน 620 ไร่ บริเวณฝั่งไทย เพื่อตัดถนนใหม่ จะผ่านจุดสลับทิศทางจราจร ข้ามด่านพรมแดนฝั่งลาว ทางฝั่งตะวันตกของหนองง้า และสิ้นสุดที่ทางหลวงสาย 13 กม.ที่ 136+677
แนวเส้นทาง