DSI ร่วมกรมการปกครอง จับผู้ต้องหา 3 ราย กรณีหลอกลวงเปิดเพจบูครับทำบัตรประชาชน ใช้รูปปลัดกระทรวงมหาดไทยสร้างความน่าเชื่อถือ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้นายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ มอบหมายให้ นายราชพฤกษ์ ชูดำ รองผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 98/2566 นายรัชพร วรอินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนไซเบอร์ นายกฤษณศักดิ์ ศรีเบญจโชติ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว และเจ้าหน้าที่กองปฏิบัติการพิเศษ สนธิกำลังร่วมกับกรมการปกครอง โดยนายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ปฏิบัติการมีรายละเอียด ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยนายรัชพร วรอินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนไซเบอร์ กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ได้ทำการจับนางสาว YIN WIN สัญชาติเมียนมา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 4145/2566 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาแม่สาย พฤติการณ์เป็นผู้ร่วมขบวนการทำหน้าที่กดเงินสดจากบัญชีที่รวบรวมเงินที่ลูกค้าหลงเชื่อว่าจ้างให้ทำบัตรประชาชน จากนั้นนำไปส่งให้กลุ่มนายทุนฝั่งประเทศเมียนมา เจ้าหน้าที่ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ IPHONE 15 PRO MAX จำนวน 1 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคารจำนวน 2 เล่ม บัตร ATM จำนวน 3 ใบ เพื่อตรวจสอบขยายผลต่อไป
2. เจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ได้ทำการจับนายพลกร (ขอสงวนนามสกลุ) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 4142/2566 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ได้ที่จังหวัดนครสวรรค์ พฤติการณ์เป็นเจ้าของบัญชีที่รับโอนเงินจากลูกค้าที่หลงเชื่อว่าจ้างให้ทำบัตรประชาชนเจ้าหน้าที่ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 1 เครื่อง เพื่อตรวจสอบขยายผลต่อไป
3. นายเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่ ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ได้ทำการจับนายสิปปกร (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 4143/2566 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 พฤติการณ์เจ้าของบัญชีที่รับโอนเงินจากลูกค้าที่หลงเชื่อว่าจ้างให้ทำบัตรประชาชน และตรวจค้นบ้านพักอาศัยขอนายสิปปกรฯ ตามหมายค้นศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 993/2566 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ภายในตำบล บางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่ตรวจยึด โทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง ฮาร์ดดิสก์ จำนวน 1 ลูก และแฟลชไดร์ฟ จำนวน 2 อัน เพื่อตรวจสอบขยายผลต่อไป
โดยแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 3 รายว่ากระทำความผิดฐาน ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ร่วมกันฉ้อโกง ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น/ฉ้อโกงประชาชน และบุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน
การดำเนินการดังกล่าวข้างต้น เป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมการปกครองเพื่อเป็นการปราบปรามการอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำการขยายผลต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมอื่น ๆ อีก และขอแจ้งเตือนประชาชน กรณีการจัดทำบัตรประชาชนออนไลน์ (Facebook) ให้กับบุคคลที่ไม่สามารถทำบัตรประชาชนในระบบปกติของราชการได้ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน มีขั้นตอนตามกฎหมายที่กำหนดไว้แน่ชัด กรมการปกครองไม่มีนโยบายในการรับทำบัตรประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์และไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทั้งสิ้น โดยหากประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งมายังกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ โทร. 02 831 9888 ต่อ 50231 หรือ DSI Call Center 1202 ในวันและเวลาราชการ
ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีผู้แทนกรมการปกครองได้ประสานข้อมูลผ่านกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าได้ตรวจพบเฟซบุ๊กชื่อ “ลงทะเบียนเปิดรับสิทธิทำบัตร” อ้างว่าสามารถทำบัตรประชาชนให้กับบุคคลที่ต้องการบัตรประชาชนไทย แต่ไม่สามารถทำผ่านระบบราชการปกติได้ โดยเฟสบุ๊คดังกล่าวได้นำรูปของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาแอบอ้างบนหน้าเพจดังกล่าวด้วย
จากการสืบสวนสอบสวนของกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบกลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์ประกาศโฆษณารับทำบัตรประชาชนออนไลน์บนแพลตฟอร์มเฟชบูค (Facebook) ให้กับบุคคลที่ไม่สามารถทำบัตรประชาชนในระบบปกติของราชการได้ ในราคาใบละ 20,000 - 30,000 บาท แต่จะมีการเรียกเก็บค่าดำเนินการเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเป็นค่าอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้เสียหายแต่ละรายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 50,000 - 70,000 บาท แต่สุดท้ายไม่ได้รับบัตรประชาชนฉบับจริงแต่อย่างใด จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินจำนวนมากที่มีลักษณะที่ผิดปกติ ในห้วงระยะวันที่ 1 มกราคม 2566 - ปัจจุบัน ยอดเงินหมุนเวียนประมาณ 300 ล้านบาท มีการโอนเงินต่อเป็นทอด ๆ ปลายทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อนำเงินออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน