‘ภูมิธรรม’ กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ขอแรงเอกชนช่วยกันดันการค้าไทยสู่เวทีโลก ชี้กระทรวงพาณิชย์มีภารกิจส่งเสริมการค้าอยู่แล้ว แย้มดันแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า 4 ฉบับ ในเดือน ธ.ค. 66 ก่อนเผย นายกฯไปต่างประเทศเพื่อเรียกความเชื่อมั่น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พาณิชย์ยุคใหม่ การค้าไทยเชื่อมโลก ”ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ว่า ขอแสดงความยินดีและชมเชยที่หอการค้าไทยมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอด 90 ปี โดยภาคเอกชนมีประสบการณ์และเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจและเป็นหัวหอกในการเดินหน้าโดยรัฐจะเป็นผู้สนับสนุนและเอื้ออำนวยให้ไปถึงจุดหมาย
กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจในการส่งเสริมการค้า พัฒนาผู้ประกอบการและดูแลผู้บริโภค ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน พาณิชย์ยุคใหม่ ที่จะเชื่อมโลกในวันนี้ จำเป็นต้องมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในเวทีโลก รวมทั้ง ต้องคำนึงกติกาการค้าของโลกยุคใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วย green economy
@ต้องใช้แรงเอกชนเข้าช่วย
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ทั้งนี้การจะขับเคลื่อนให้การค้าพาณิชย์ของประเทศไทยเชื่อมกับโลกได้จำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพราะวันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากระเบียบเศรษฐกิจและการค้าเปลี่ยนไปมาก บทบาทการค้ายุคใหม่เราต้องขับเคลื่อนด้วยความเร็ว ความรู้ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในโลก เป็นสมดุลที่ให้เกิดความยั่งยืนที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ยุติธรรม และต้องการความร่วมมือจากทุกคน
“สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคทางการค้ารัฐบาลทั้งกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ รัฐบาลก็พร้อมจะแก้ไขปรับปรุง เพื่อเอื้ออำนวยและลดอุปสรรคทางธุรกิจ เราจะต้องกล้าคิดนอกกรอบ ในแบบเดิมๆ โดยภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้จะสามารถประกาศแก้ไขกฎหมายและพระราชบัญญัติได้อย่างน้อย 4 ฉบับ ให้ผ่าน ครม. เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำการค้ารวมถึงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆของกระทรวงให้ได้มากที่สุด” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนพาณิชย์ยุคใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถของ ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจ นักวิจัย และผู้บริหาร เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การตัดสินใจลงทุน และการตัดสินใจทางธุรกิจ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ผ่านการพัฒนากฎระเบียบและขั้นตอนต่าง ๆ ให้ทันสมัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ การสร้างความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าและคู่ลงทุน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการค้าและการลงทุนในภูมิภาคและตลาดโลก ผ่านการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและบริการของไทย
นอกจากนี้จะเร่งผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA รวมทั้ง การปรับตัวเพื่อรองรับ และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกรอบกติกาใหม่ของโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) อยู่แล้วทั้งหมดจำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ เร่งเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าใหม่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนมูลค่าการค้ากับคู่ภาคี FTA ให้มากขึ้นจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 61% ให้เพิ่มเป็น 80% ในปี 2570
ส่วนการเดินทางเยือนต่างประเทศของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นการเรียกความเชื่อมั่นโดยเฉพาะการเดินทางไปยังประเทศใหญ่และประเทศที่เป็นเป้าหมายสำคัญของไทย อยากให้ข้าราชการทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช้ธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆ แต่จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ลู่ทางการค้าและประโยชน์ให้เอกชนไปสานต่อได้อย่างต่อเนื่อง
และเมื่อนายกรัฐมนตรีทำแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเดินตาม ถือเป็นการเก็บเกี่ยวตามการเดินทางของนายกรัฐมนตรีเพื่อไม่ให้เสียไม่เปล่า และรัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้นายกรัฐมนตรีทำงานคนเดียวได้จะต้องทำงานสนับสนุนกัน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด โดยการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อสานความสัมพันธ์ที่มั่นคงขึ้นในอนาคต