‘เศรษฐา’ พบนายกฯแคนาดา-ญี่ปุ่น จีบลงทุนในไทย เพราะประเทศพร้อมแล้ว เตรียมร่วมประชุมอาเซียน-แคนาดาในเดือนหน้า เล็งฟื้น FTA ร่วมกัน ส่วนญี่ปุ่นขอไทยช่วยอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีย้ำยังดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปต่อไป
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) รายงานว่าา วันที่ 17 พ..ย.2566 ณ ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศใต้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30
ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างหวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับทวิภาคีอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโอกาสมากมาย และการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจจากทั่วโลกจะได้ใช้โอกาสนี้พบกัน
@ไทยพร้อมรับลงทุน/แคนาดาสานต่อ FTA
นายเศรษฐา กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มาเพื่อประกาศให้ทราบว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมรับการลงทุน การเกิดสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาภูมิภาคอาเซียน อาทิ ไทย และเวียดนาม มากขึ้น โดยมีภาคเอกชนชั้นนำต่างประเทศเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น ในครั้งนี้มีโอกาสได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำหลายราย ที่กำลังพิจารณา และพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยไทยมีสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคเอกชนจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ
ขณะที่นายกรัฐมนตรีแคนาดากล่าวว่า แคนาดาพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลของไทย ทั้งในระดับทวิภาคี และภูมิภาค เพื่อสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ และความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ แคนาดามียุทธศาตร์อินโดแปซิฟิก ที่หวังจะร่วมมือกับไทย ซึ่งด้วยสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้ภาคเอกชนจะต้องเพิ่มศักยภาพความยืดหยุ่นในภาคการผลิตมากขึ้น รวมทั้งกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของแคนาดา อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดายังไม่มี FTA ระหว่างกัน ทั้งนี้ ทั้งสองเห็นพ้องหากดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและแคนาดามาก โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ความตกลง FTA ระหว่าง ASEAN-Canada ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว
@ญี่ปุ่นขอไทยอำนวยความสะดวกลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง ณ โรงแรมนิกโก ซานฟรานซิสโก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. Kishida Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นเป็นมิตรที่ใกล้ชิดมาอย่างยาวนานมีความผูกพันในทุกระดับ พร้อมย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภูมิภาค ทั้งนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกับญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรี พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) ในเดือนหน้า และหวังว่าจะได้เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในโอกาสแรก
ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวยินดีที่ได้พบหารือกับนายกฯ ในวันนี้ แสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นพร้อมกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สานต่อความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน ซึ่งโอกาสนี้ นายกฯ ญี่ปุ่นยังได้กล่าวขอให้ไทยช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าไปลงทุนในประเทศไทย อาทิ การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการติดต่อหรือประกอบธุรกิจแก่นักธุรกิจ
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือในประเด็นที่เป็นประโยชน์และสนใจร่วมกัน
@ย้ำอีกไม่ทิ้งธุรกิจรถสันดาป
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไทยพร้อมดูแลภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปญี่ปุ่นในไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ควบคู่กับการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตยานยนต์สันดาป ซึ่งนายกฯ ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทาง โดยหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่นโดยตรง
พร้อมกันนี้ นายกฯ ญี่ปุ่นซึ่งได้เชิญนายกฯ ไทย เข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคก้าวเข้าสู่สังคมปลอดคาร์บอน ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่นที่สอดรับกับแนวทางของไทย
ทั้งนี้ ไทยมุ่งเน้นเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเปิดกว้างในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง โดยไทยมีโครงการ Landbridge เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงอยากเชิญญี่ปุ่นมาร่วมมือในโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ญี่ปุ่น และภูมิภาค โดยนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงด้านความมั่นคง ซึ่งยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิดภายใต้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ