'กลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรม' ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ชี้แจงปัญหาการก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคงกระทบต่อประชาชนในพื้นที่-ขอให้ระงับถมคลองเปรมประชากร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 นายภาณุเมศวร์ ศิรินรานันตร์ ตัวแทนประชาชนกลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรมและคณะ ยื่นหนังสือถึงนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เรื่อง ขอให้ระงับการก่อสร้างบ้านมั่นคงในคลองเปรมประชากร ตําบลหลักหก อําเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากประชาชนในชุมชนได้รับผลกระทบจากก่อสร้างบ้านมั่นคง
มีรายละเอียดดังนี้
คณะชาวชุมชนตําบลหลักหก อําเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วยประชาชนชุมชนหมู่บ้านเมืองเอก ชุมชนหมู่บ้านวิภาวรรณ ชุมชนหมู่บ้านวราสิริและชุมชน บ้านริมคลองเปรมประชากร ได้รับผลกระทบจากการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. เริ่มดําเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้กับชุมชนริมคลองเปรมประชากร หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 7 ตําบลหลักหก อําเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยแบ่งระยะเวลาก่อสร้างออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ดําเนินการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมถมดินและก่อสร้างบ้านเป็น จํานวน 218 หลัง และระยะที่ 2 สําหรับก่อสร้างบ้าน 86 หลัง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ดําเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งริมคลองเปรมประชาชากรในเขตจังหวัดปทุมธานี จากคลองบ้านใหม่ถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ความยาว 6.97 กิโลเมตร ทําให้เกิดปัญหาผลกระทบด้านการจราจร สังคม และความปกติสุขของชุมชน อย่างรุนแรงทั้งในขณะดําเนินการก่อสร้างและภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ สรุปได้ดังนี้
1. ถนนเลียบคลองเปรมประชากร ตั้งแต่สะพานเอกทักษิณไปจรดแนวเขตกรุงเทพมหานคร ในระยะที่ 2 การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยภายใต้การดูแลของ พอช. มิได้ออกแบบให้มีที่จอดรถสําหรับ บ้านเรือนของประชาชน ทําให้เมื่อก่อสร้างเสร็จประสบปัญหาการจอดรถรุกล้ำถนน (ดังจะเห็นได้จากโครงการ บ้านมั่นคงระยะที่ 1 ตั้งแต่ซุ้มประตูวัดรังสิตบนถนนเอกทักษิณ ทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก จรดสะพานข้ามคลอง เปรมประชากรเข้าวัดรังสิต ผู้ที่พักอาศัยในบ้านมั่นคงจอดรถยนต์หน้าที่พักอาศัย ก่อให้เกิดผลกระทบด้าน การจราจรต่อเนื่องกันไป) ถนนเลียบคลองเปรมประชากร เป็นถนนที่ประชาชนทั้งชาวหลักหกและประชาชน ในพื้นที่อื่น ใช้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง ระหว่างหมู่บ้านเมืองเอก มหาวิทยาลัยรังสิต โรงเรียนเซนต์โย เซฟ โรงเรียนบ้านพลอย โรงเรียนอนุบาลเมืองเอก โรงเรียนสายปัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วัดนาวง ตลาดสี่มุมเมือง สนามบินดอนเมือง สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรถไฟรังสิต เชื่อมโยงโครงข่าย จราจรกับกรุงเทพมหานคร เป็นเส้นทางลัดและเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่จะต้องได้รับการพัฒนาและยกระบบของ ถนนสายนี้ให้มีขีดความสามารถในการบริการสาธารณะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกและปลอดภัย
2. ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติปี 2565 ระบุว่า ในพื้นที่ตําบลหลักหก มีจํานวน ประชากรสูงถึง 22,168 คน มีจํานวนบ้าน 12,387 หลัง ทั้งที่ตำบลหลักหกมีเนื้อที่เพียง 11.7 ตารางกิโลเมตร เท่านั้น แบ่งเป็น 7 หมู่บ้าน และ 10 ชุมชน ชี้ให้เห็นว่า มีความหนาแน่นของประชากรในอัตราที่สูงและมี แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมหาวิทยาลัยรังสิตมีนักศึกษาและบุคคลกรที่เพิ่มขึ้นเป็นจํานวน มากในแต่ละปี (ในปีการศึกษา 2566 มีจํานวนนักศึกษามากกว่าสามหมื่นคน) มีอาคารหอพักนักศึกษาเป็นจำนวนมาก มีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทําให้มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบด้านการจราจรโดยตรง
3. หน่วยงานเกี่ยวข้องกับแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริม คลองเปรมประชากร ประกอบด้วย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) กรมโยธิการและผังเมือง กรมธนารักษ์กรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีและเทศบาลตําบลหลักหก ได้จัดประชุมชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการดําเนินโครงการดังกล่าว ที่มหาวิทยาลัยรังสิต องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีได้ ชี้แจงเบื้องต้นว่า ได้จัดทําโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะขยายถนนริมคลองเปรม ประชากร ในบริเวณที่ก่อสร้างบ้านมั่นคงในระยะที่ 2 เป็นถนนที่มีความกว้างขนาด 8 เมตร
คณะชาวชุมชนตําบลหลักหก มีความชื่นชมและยินดีต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีที่เข้ามารับตําแหน่งใหม่นี้ ด้วยโครงการสร้างบ้านมั่นคงโดยการถมคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นการกระทําผิดต่อกฎหมายหลายกรรมหลายวาระ อีกทั้งยังสร้างผลกระทบต่อชุมชนทั้งปัญหาน้ําท่วม สภาพแวดล้อม และ การจราจร พร้อมกันนี้ทางคณะได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาสั่งการดังนี้
1. ขอให้หน่วยงานของรัฐได้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างในโครงการฯ ระยะที่ 2 (ที่กําลังดําเนินการอยู่) และขุดดินที่ถมลงในคลองออกไป เพื่อให้คลองเปรมฯ มีพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม
2. ขอให้ระงับการถมคลองเปรมฯ เพื่อก่อสร้างอาคารบ้านฯ ในระยะที่ 2 ถึงระยะสุดท้ายตลอดแนวคลอง
3. ขอให้รื้อถอนเสาเข็มที่ปักกลางคลองเปรมฯ และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งให้เหมาะสมกับถนนเลียบคลองเปรมฯ พร้อมกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังจากการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง
4. ขอให้ทางหน่วยงานรัฐ สร้างถนนที่มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 11 เมตร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ทําให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นทางลัดเข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ขอให้มีการจัดสร้างทางเดินเท้าที่สะดวกปลอดภัย มีไหล่ทางที่กว้างเพียงพอ มีเครื่องหมายจราจรที่ชัดเจน เพื่อให้รถที่ออกจากซอยสามารถมองเห็นรถทางตรงก่อนจะเลี้ยวออกจากซอย และมีระยะเลี้ยวซ้ายเพียงพอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถและใช้ถนน
5. ในการออกแบบและก่อสร้างถนน คสล. ขอให้จัดทําท่อระบายน้ำและรางระบายน้ำเชื่อมต่อโครงข่ายเขื่อนป้องกันริมตลิ่งของกรมโยธาธิการ และสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการระบายน้ำของกรมชลประทาน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังของบ้านเรือนประชาชนภายหลังจากก่อสร้างถนนแล้ว
6. ในการออกแบบและการก่อสร้างถนน ขอให้มีลักษณะเช่นเดียวกับถนนเลียบคลองรังสิตประยูรศักดิ์หลังตลาดรังสิตช่วงระหว่างถนนพหลโยธินถึงประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ พร้อมขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัทที่ให้บริการด้านโทรคมนาคม จัดทําแผนในการปรับปรุงถนนให้เกิดความชัดเจนการดําเนินการ และมีผู้รับผิดชอบโครงการที่ชัดเจน สามารถเข้าบํารุงรักษาสาธารณูปโภคได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชน (เช่น น้ำไม่ไหล ไฟฟ้าดับ สายสื่อสารขัดข้อง)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
นักวิชาการชี้ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดี 'ถมคลองเปรม' อ้างทำตามมาตรา 44 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
'กลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรม' ยื่นหนังสือถึงนายก ขอให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ระงับการถมคลอง