วงเสวนา 'ถมคลองเปรม ปัญหาที่ไร้คำตอบ สิทธิชุมชนที่รัฐหลงลืม ประชาชนจะพึ่งใคร' หารือแนวทางดำเนินการหลังศาลปกครองไม่รับฟ้อง ยกเหตุผลเป็นการทำตาม ม.44 ของคสช. นักวิชาการชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้านประชาชนในพื้นที่หลักหกเผย หลังถมคลองชุมชนมีปัญหาน้ำท่วม-ภาครัฐไม่เหลียวแล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 ก.ค. 2566 กลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรม จัดงานเสวนา 'ถมคลองเปรม ปัญหาที่ไร้คำตอบ สิทธิชุมชนที่รัฐหลงลืม ประชาชนจะพึ่งใคร' ณ ร้าน Dopamine Cafe หมู่บ้านวิภาวรรณณ ถนนเลียบคลองเปรม ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้กลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรม ประกอบด้วย ชาวชุมชนเมืองเอก ชุมชนหมู่บ้านวิภาวรรณ ชุมชมหมู่บ้านวราสิริ ชุมชนริมคลองเปรมประชากร อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
นางทิพวรรณ ไตรพยัคฆ์ ตัวแทนประชาชนหลักหก กล่าวว่า ผลกระทบจากการถมคลองเปรมประชากรที่มีความกว้าง 50 เมตร เหลือเพียง 25 เมตร ทำให้เวลาที่ฝนตกเกิดน้ำท่วมบริเวณชุมชนโดยรอบ ทั้งยังทำให้ขนาดถนนของชุมชนแคบลงส่งผลให้การจราจรลำบาก อีกทั้งคลองเปรมประชากรยังเป็นคลองที่รับน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง การถมคลองทำให้ความกว้างลดลงจึงส่งผลต่อการระบายน้ำ จึงมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลปกครองจะรับการอุทธรณ์จากประชาชนในชุมชน
นายภาณุเมศวร์ ศิรินรานันตร์ หนึ่งในผู้จัดการเสวนา กล่าวว่า คลองเปรมประชากรบางส่วนไม่สามารถทำหน้าที่รับรองน้ำได้อย่างสมบูรณ์เนื่องจากถูกถมคลอง ทำให้เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม น้ำหลาก ในปัจจุบันแกนนำชุมชนร้องเรียนไปยังภาครัฐ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง จึงร้องต่อศาลปกครองกลางแต่ศาลไม่รับฟ้อง เนื่องจากโครงการพัฒนาชุมชนริมคลองทำตามคำสั่งคสช.ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งการ
นายศักดิ์ณรงค์ มงคล ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยประชาชนด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วมการเสวนาผ่านโปรแกรม Zoom กล่าวว่า กรณีของศาลที่ไม่รับคำฟ้องมีข้อเท็จจริง เป็นเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องที่ไม่ชอบของโครงการเริ่มจากโครงการดังกล่าวละเมิดสิทธิชุมชน ที่ไม่ใช่แค่ชุมชนแออัดแต่รวมถึงชุมชนโดยรอบที่ได้รับผลกระทบ ละเมิดสิทธิในการจัดการ การใช้ประโยชน์ในการระบายน้ำ ฉะนั้นการได้ประโยชน์จากการระบายน้ำชุมชนได้ประโยชน์มาตลอด แต่พอรัฐสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปประมาณ 50% ทำให้กระทบการระบายน้ำ ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบในระดับรุนแรงกว่าปกติ พอเป็นการกระทบแบบรุนแรงต้องทำ EHIA (Environmental Health Impact Assessment) ที่มีการปรึกษาตรวจสอบที่เข้มข้น คิดว่าในการต่อสู้เรื่องนี้ต้องยกระดับทำให้ศาลเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหา ต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติที่สูงขึ้น
"สรุปได้ว่าเป็นเรื่องที่รัฐแก้ปัญหารุกล้ำลำคลองของชาวบ้านที่มาอาศัย เมื่อก่อนเป็นชาวบ้านรุกล้ำ แต่ตอนนี้เป็นรัฐรุกล้ำชุมชนโดยอาศัยอำนาจกฎหมายเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นี่เป็นเรื่องที่รัฐต้องละเอียดอ่อน ส่วนกรณีศาลปกครองไม่รับฟ้อง เป็นเรื่องที่แปลกใจว่าศาลมีผลเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะคดีเช่นนี้เป็นการกระทำของรัฐหลังรัฐประการ รวมทั้งแผนแม่บทเรื่องนี้หลายคดีศาลปกครองรับพิจารณาแล้ว เช่น คลองลาดพร้าว ที่มีความคล้ายคลึงกัน ศาลก็รับวินิจฉัยว่าทำไม่ได้ ไม่ชอบ ไม่ใช่ปัดตกตั้งแต่ต้นเช่นนี้" นายศักดิ์ณรงค์ระบุ
นอกจากนี้นายศักดิ์ณรงค์ยังกล่าวถึงการใช้มาตรา 279 ที่ต้องมีการตีความอย่างละเอียดละอ่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่ตีความเพื่อคุ้มครองภาครัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ศาลต้องมีบรรทัดฐานเพราะคดีอื่นที่มีความคล้ายกันศาลยังรับพิจารณาได้ เช่น คดีถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
รศ.ดร.เสรี ศุภาทิพย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตนงุนงงกับคำวินิจฉัยของศาลที่ออกมาว่าเพราะมาตรา 44 จึงไม่รับฟ้อง ยืนยันว่าถ้าตนได้เข้าไปเป็นพยานในศาลจะสามารถโน้มน้าวศาลได้ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ถ้ายื่นอุทธรณ์ตนพร้อมไปเป็นพยานและชี้แจงกับศาล เข้าใจว่าศาลไม่สามารถเข้าใจเรื่องรายละเอียดทางเทคนิคได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าการถมคลอง 50 เมตรเหลือ 25 เมตร ผิดหลักการสากล
การอุทธรณ์ในครั้งนี้มีความคาดหวังว่าจะได้รับชัยชนะ การดำเนินการของภาครัฐกับพื้นที่คลองเปรมประชากรไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างที่ระบุไว้ในแม่บท เนื่องจากคลองที่กว้าง 50 เมตร เดิมมีการระบายน้ำที่ติดขัดเนื่องจากมีบ้านใต้ถุนสูงของชุมชนแต่ยังสามารถดำเนินการได้ น้ำไม่ท่วม ผิดกับปัจจุบันที่มีการถมคลองถาวรไปครึ่งหนึ่งของพื้นที่คลองเพื่อสร้างบ้าน ทำให้เกิดน้ำท่วม นอกจากนี้โครงการที่ดำเนินการที่ลาดพร้าวไม่ได้ถมคลองซึ่งต่างจากที่หลักหก โดยการถมคลองไม่ได้อยู่ในแผนแม่บท โดยนำหลักความคิดว่าคลองในกรุงเทพมหานครกว้าง 25 เมตร คลองในหลักหกก็ต้องกว้าง 25 เมตร เป็นหลักความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะผิดหลักการทางวิศวกรรม ซึ่งเรื่องนี้ต้องชี้แจงให้ศาลฟัง
"ตามหลักการวิศวกรรมที่พื้นที่ยิ่งแคบน้ำก็ยิ่งสูง สิ่งที่ตามมาหลังจากที่ทำผิดก็ต้องมีการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหา เนื่องจากรัฐทำผิดพลาด เป็นสิ่งที่พอเริ่มผิดสิ่งที่ตามมาก็จะผิดต่อไปด้วย ทำให้ชุมชนมีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งหลักการตามแผนแม่บทที่ระบุว่าชุมชนจะอยู่อย่างมีความสุขมั่นคง แต่ในความเป็นจริงชุมชนจะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก" รศ.ดร.เสรี กล่าว
นายเจษฎา ดนตรีเสนาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานี เขต 2 กล่าวว่า เนื่องจากการตั้งรัฐบาลล่าช้าและยังไม่มีความแน่นอน จะส่งผลต่อการแก้ปัญหากับประชาชนในพื้นที่ล่าช้าตามไปด้วย ประกอบกับอำนาจของสส.ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลต่างกัน แต่ตนสามารถใช้อำนาจได้อย่างที่สส.พึงมี โดยสามารถนำเรื่องนำเรื่องเข้าไปพูดคุยในสภาได้หลายทาง แต่ในความเป็นจริงตนไม่สามารถนำปัญหาไปปรึกษาในสภาได้ทันทีโดยไม่ปรึกษาหน่วยงาน เพราะหน่วยงานจะมองว่าสส.ไปฟ้องสภา จะทำให้ในอนาคตทำงานได้ยากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
เบื้องต้นตนสามารถทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังหวังว่าจะได้รับตำแหน่งกรรมาธิการป้องกันบรรเทาสารธรณภัยที่ตนมีความถนัดและจะได้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ โดยตำแหน่งกรรมาธิการนี้สามารถรับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนได้โดยตรง และมีอำนาจเชิญหน่วยงานเข้ามาพูดคุยได้ ส่วนกระบวนการด้านฝ่ายตุลาการ ชุมชนก็ดำเนินการไปตามกระบวนการกฎหมาย
นอกจากนี้นายเจษฎายังกล่าวถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลพวงจากอำนาจของมาตรา 44 ในยุคของคสช. ว่า มาตรา 44 ของคสช. มีปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง พรรคก้าวไกลพยายามออกพ.ร.บ. ล้มล้างอำนาจ มาตรา 44 แต่ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ค่อนข้างยาก
ทั้งนี้งานเสวนาดังกล่าวเป็นผลมาจากกลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรม ได้รับผลกระทบจากการที่หน่วยงานของรัฐจัดทำโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร โดยการก่อสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งและก่อสร้างบ้านมั่นคง ด้วยวิธีการถมดินลงในคลองเปรมประชากร ซึ่งคลองเปรมประชากรในเขตตำบลหลักหกมีสภาพภูมิศาสตร์แตกต่างกับพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่อื่นที่มีการดำเนินโครงการ การดำเนินการดังกล่าวหน่วยงานของรัฐมิได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการออกแบบและก่อสร้างมิได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นการละเลยสิทธิชุมชน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้
ต่อมากลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรมได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อให้คำนึงถึงสิทธิชุมชนขอให้ทบทวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และประชาชนชาวตำบลหลักหก แต่มิได้รับการแก้ไขปัญหา กลุ่มหลักหกรักษ์คลองเปรมจึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อยังให้ได้รับการคุ้มครองและยังประโยชน์จากสิทธิชุมชน ศาลปกครองได้มีคำสั่งสรุปว่า ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินการตามคำฟ้องล้วนเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2560 เรื่อง การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเพื่อแก้ไขปัญหาการ บุกรุกลำน้ำสาธารณะ ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติให้คำสั่ง การกระทำของรัฐธรรมนูญหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป ข้อพิพาทตามคำฟ้องจึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบของศาลปกครอง เนื่องจากตามบทเฉพาะกาล มาตรา 279 กำหนดให้คำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และในกรณีที่ประกาศหรือคำสั่ง คสช.ฉบับใดมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด
แต่การที่ศาลปกครองมีคำสั่งว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ของ คสช.ได้ ทั้งที่คำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 อันเป็นการขัดกับหลักการของกฎหมายปกครอง แม้ว่าตามมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติเปิดทางให้มีการพิจารณาทบทวนแก้ไขข้อผิดพลาดบางประการจากคำสั่ง คสช. ดังกล่าวข้างต้นได้