'ก้าวไกล' ตั้งคณะทำงานพิเศษป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ ให้ 'เบญจา' เป็นประธาน ชูการทำงานเชิงรุก ดึงคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญ ยกระดับมาตรฐานการทำงานของพรรค
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพื่อยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับการรับมือและการป้องกันปัญหาการคุกคามและความรุนแรงทางเพศ ให้ทุกองคาพยพของพรรค มีความเข้าใจที่เท่าเทียมกัน สอดคล้องกับคุณค่าหลัก (Core Value) ของพรรคที่ยึดถือในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ต่อต้านการคุกคามและยุติความรุนแรงทางเพศเพื่อให้สอดคล้องกับพลวัตของสังคม
คณะทำงานพิเศษชุดนี้ จะประกอบด้วยคนในพรรคและคนนอกที่มีความรู้ มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ มาทำงานร่วมกัน โดยมีตนเป็นประธาน สำหรับองค์ประกอบเบื้องต้น ได้แก่ (1) นักวิชาการ (2) สหวิชาชีพ เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ที่จะช่วยยกระดับความเข้าใจด้านการช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามหรือถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ให้กล้าออกมาเรียกร้อง เปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางให้พรรคในอนาคต ว่าหากเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำอย่างไร (3) ประธานคณะกรรมการวินัยของพรรค (4) ตัวแทนทีมนโยบายของพรรค (5) ฝ่ายจัดการอบรมของพรรค โดยในอนาคตอาจมีการร่วมออกแบบคู่มือ (Guidebook) สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่แก่บุคลากรฝ่ายต่างๆ (6) ตัวแทนจากฝ่ายเครือข่ายของพรรค เพื่อให้สามารถนำเรื่องนี้ไปทำงานในระดับพื้นที่ด้วย
น.ส.เบญจา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการหารือในที่ประชุม สส.เมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) ทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่าเรื่องการแก้ไขและป้องกันปัญหาการคุกคามและความรุนแรงทางเพศ เป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่พรรคต้องดำเนินการ รวมถึงเป็นวาระของสังคมที่ทุกพรรคการเมืองต้องร่วมกันผลักดันและถูกตรวจสอบ โดยหลังจากนี้อีก 1 สัปดาห์ ตนจะออกแบบการทำงานและผลลัพธ์ที่คาดหวังจากคณะทำงานพิเศษฯ เพื่อเสนอต่อกรรมการบริหารพรรคต่อไป
น.ส.เบญจา ระบุว่า สิ่งที่คาดหวังจากการมีคณะทำงานพิเศษฯ นี้ ไม่ได้ต้องการเพื่อยกว่าพรรคก้าวไกลมีมาตรฐานเรื่องนี้สูงส่งกว่าคนอื่น แต่เพื่อยกระดับการทำงานของพรรค ด้านการรับมือและป้องกันปัญหาจากการคุกคามและความรุนแรงทางเพศ ให้สอดคล้องกับพลวัตของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
รวมถึงสร้างกระบวนการบนพื้นฐานของความเข้าใจที่ตรงกัน ส่งเสริมความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้เกิดการละเมิดเสรีภาพทางเพศตามมา โดยคณะทำงานพิเศษฯ จะจัดทำข้อเสนอต่อพรรคถึงแนวทางในปรับโครงสร้าง กระบวนการ และมาตรการต่างๆ เช่น การทบทวนองค์ประกอบและสัดส่วนกรรมการวินัย การทบทวนกระบวนการในการรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการ การสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศแก่บุคลากร การสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาการคุกคามและความรุนแรงทางเพศ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ให้สมกับที่ประชาชนคาดหวัง
ในระยะยาวหวังว่าหากทำได้สำเร็จ จะไม่ได้เป็นเพียงการยกระดับการยุติความรุนแรงทางเพศภายในพรรคเท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับการเมือง ยกระดับมาตรฐานสังคมไทยในภาพรวมไปพร้อมกัน