การทางพิเศษฯ เริ่มนับหนึ่งโครงการทางด่วนศรีนครินทร์ - สุวรรณภูมิ 18 กม. วงเงิน 3.5 หมื่นล้าน ผ่าแนวเส้นทางตามผลศึกษาทางหลวง ใช้แนวทางด่วนศรีรัช - มอเตอร์เวย์สาย 7 เชื่อมยาวจากต่างระดับศรีนครินทร์ - สนามบินสุวรรณภูมิ กางไทม์ไลน์ศึกษาจบปี 67 เสนอโครงการ-ทำ EIA 1 ปี ก่อนประมูลโครงการ-เวนคืน 2-3 ปี เคาะก่อสร้างปี 70 ไปเสร็จปี 73
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2566 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดความต้องการในการเดินทางสูงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้า ช่วงตั้งแต่บริเวณทางแยกถนนศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารจัดการแบบ Single Command
ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวถึงความจำเป็นและประโยชน์ในการพัฒนาโครงการฯ ว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ได้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงและมีขอบเขตความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง ทล. ทช. และ กทพ. ระบุให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนิน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ระยะทาง18.5 กม. วงเงิน 35,685 ล้านบาท เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน และบรรเทาปัญหาการจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น
“โครงการมีขอบเขตกำหนดการศึกษาในด้านต่าง ๆ 5 ส่วนงาน คือ 1) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม 2) งานสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) 3) งานประชาสัมพันธ์โครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4) งานศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมถึงการประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) 5) งานจัดทำกรอบสาระสำคัญของประกาศเชิญชวน เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่างสัญญาร่วมลงทุน และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 450 วัน เริ่มเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา” นายสุรเชษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อาทิ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างอย่างชัดเจน การกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่แน่นอน ไม่ยืดเยื้อ การกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน เป็นต้น
@ผ่าแนวทางด่วนสุวรรณภูมิ
ด้านแหล่งข่าวจากกทพ.เปิดเผยว่า โครงการทางพิเศษสายศรีนคิรนทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามผลการศึกษาเดิมของกรมทางหลวง (ทล.) เมื่อปี พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2564 มีระยะทางประมาณ 18.5 กม. มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ปลายทางพิเศษศรีรัช ใกล้กับทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ (กม. 0+000) ในพื้นที่เขตสวนหลวง ออกแบบเป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร (3 ช่องจราจรต่อทิศทาง) อยู่ในตำแหน่งร่องระบายน้ำ โดยมีความกว้างช่องจราจรละ 3.6 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.0 เมตร มีไหล่ทางด้านขวากว้าง 1.0 เมตร ไปทางทิศตะวันออกเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ (กม. 13+000) และสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ของเขตลาดกระบัง (กม. 18+500)
โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการนี้อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครอบคลุม 5 เขต ประกอบด้วย เขตบางกะปิ, เขตสวนหลวง, เขตสะพานสูง, เขตประเวศ และเขตลาดกระบัง และ 9 แขวง ได้แก่ แขวงหัวหมาก, แขวงพัฒนาการ, แขวงทับช้าง, แขวงประเวศ, แขวงคลองสองต้นนุ่น, แขวงคลองสามประเวศ, แขวงลาดกระบัง, แขวงลำปลาทิว และแขวงทับยาว
แนวเส้นทางทางพิเศษสายศรีนคิรนทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ขณะที่ทางขึ้นลง จากผลการศึกษาเดิมออกแบบไว้จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ทางขึ้น-ลง บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ทางเชื่อมเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และทางขึ้น-ลง บริเวณพื้นที่ลาดกระบัง เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาการจราจรของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และการเดินทางสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงการเดินทางสู่พื้นที่ภาคตะวันออก
โดยทางยกระดับของโครงการจะมีจุดขึ้น-ลง เริ่มจากบริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ จากนั้นทางยกระดับของโครงการจะมุ่งตรงไปตามทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และแยกเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิบริเวณกิโลเมตรที่ 13+000 และทางยกระดับของโครงการจะไปสิ้นสุดที่บริเวณกิโลเมตรที่ 18+500 ห่างจากทางเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 5 กิโลเมตร ในพื้นที่แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง โดยทางขึ้น-ลง ทางยกระดับของโครงการ
ส่วนสถานะโครงการปัจจุบัน อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ศึกษาการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) คาดว่าจะศึกษาเสร็จประมาณเดือน ก.ย. 2567
จากนั้นในปี 2568 จะเป็นขั้นตอนของการเสนอรายงาน EIA ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คู่ขนานไปกับการขออนุมัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ก่อนที่ระหว่างปี 2568-2570 จะเริ่มขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ขณะเดียวกันก็จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเวนคืนช่วงปี 2569-2571 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2570 แล้วเสร็จในปี 2573