ป.ป.ช.เผยแผนงานยกระดับ CPI ย้ำงบพัฒนาท้องถิ่นต้องเปิดเผยได้ ล่าสุดประสาน ปค.ให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดกำชับ อปท.ทั่วประเทศแจงรายละเอียดใช้จ่ายงบประมาณลงเว็บไซต์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เอกสารแจกเกี่ยวกับแผนงานของ ป.ป.ช.เพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ CPI มีเนื้อหาดังนี้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยถึงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปี พ.ศ.2561-2580 ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ด้วยการกำหนดและยกระดับตัวชี้วัด จัดอันดับ และให้คะแนนค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยให้สูงขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องย้อนไปจากที่ คณะรัฐมนตรี ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อนประเด็นแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อนแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าว
โดย สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำและติดตามการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) มาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบชี้นำการขับเคลื่อนการดำเนินงานยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยให้สูงขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความโปร่งใสของหน่วยงานรัฐได้มากขึ้น คือการปรับเปลี่ยนภาครัฐให้เป็น “รัฐเปิด (open government)” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าประชาชนมีสิทธิเข้าถึงเอกสารและกระบวนการต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของส่วนราชการได้
สำหรับ การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามแผนปฏิบัติการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ดังกล่าว ล่าสุด ก็มีความเคลื่อนไหวในส่วนของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ที่เห็นถึงความสำคัญของความโปร่งใสในการใช้งบประมาณสาธารณะของ อปท. ทั่วประเทศ จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบการดำเนินการดังกล่าว
ซึ่งกรมได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อแจ้งให้ อปท. ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลประจำปี งบประมาณที่ได้จัดสรรเพิ่มเติม และงบประมาณเงินสะสมขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น โดยให้ข้อมูลที่เปิดเผยสามารถนำไปใช้ประมวลผลต่อได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูล โดยให้เปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ
ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศถือเป็นส่วนราชการย่อยที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยแบ่งแยกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีทั้งหมด 76 แห่ง เทศบาล 2,469 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 192 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,303 แห่ง และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา รวม 2 แห่ง ดังนั้น จึงมีหน่วยงานภาครัฐในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 7,850 แห่ง ซึ่งถ้าทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ก็จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของสังคมและยกระดับคะแนนและอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศให้สูงขึ้นได้ในอนาคต